แผนปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนพื้นที่สูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2009 14:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนพื้นที่สูง ระยะ3 ปี (พ.ศ.2553-2555)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2553-2555) เพื่อเป็นกรอบปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. แผนปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวอาศัยหลักการของการนำกรอบแนวคิดการดำเนินงานตามแนวทางของโครงการหลวง ประกอบด้วย การพัฒนาอาชีพและรายได้บนพื้นฐานความรู้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการสนับสนุนการเรียนรู้จากโครงการหลวง การจัดการเชิงพื้นที่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นหลักการมีเหตุมีผล คือ การประกอบอาชีพที่อยู่บนฐานความรู้ หลักความพอประมาณ และหลักการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยดำเนินการในลักษณะเป็นกลุ่มเครือข่ายของโครงการหลวงและพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูงของชุมชน ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) โดยแต่ละกลุ่มมี ศศช. บ้านหลัก เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และศูนย์กลางการพัฒนา ในการเชื่อมโยงและขยายผลไปยัง ศศช. กลุ่มบ้านบริวารในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

2. วัตถุประสงค์

(1) เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการองค์ความรู้จากโครงการหลวงและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ชุมชนสามารถนำไปใช้จริงตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

(2) เพื่อสนับสนุนชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองด้วยศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายการจัดการความรู้และการเรียนรู้ เป็นกลไกในการขับเคลื่อน

(3) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงบูรณาการในการใช้ทรัพยากรของรัฐและองค์กรท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. เป้าหมายการพัฒนา

(1) เป้าหมายรวม : คนบนพื้นที่สูงได้รับการพัฒนาบนฐานความรู้ที่เหมาะสม และสามารถดำรงชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าได้อย่างยั่งยืน

(2) เป้าหมายเชิงปริมาณ : ประชากรในชุมชนได้รับประโยชน์ จำนวน 180 แห่ง โดยมีประชากรที่ได้รับการเรียนรู้อย่างน้อยปีละ 4,500 คน ในพื้นที่ 53 ตำบล 23 อำเภอ 8 จังหวัด โดยร้อยละ 60 ของครัวเรือนในชุมชนได้รับประโยชน์ในการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการ

(3) เป้าหมายเชิงคุณภาพ : ชุมชนในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 180 แห่ง ได้รับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้บนฐานองค์ความรู้ของโครงการหลวงอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว และมีเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

4. พื้นที่ดำเนินงานและประชากร : ชุมชนของ ศศช. 180 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนและถิ่นทุรกันดาร กระจายอยู่ในพื้นที่ 53 ตำบล 23 อำเภอ และ 8 จังหวัด จำนวน 7,902 ครัวเรือน และมีประชากรเป้าหมาย 39,971 คน ประชากรในพื้นที่เป้าหมายนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยงลัวะ ลาหู่ (มูเซอ) ม้ง (แม้ว) อาข่า (อีก้อ) ลีซู (ลีซอ) เมี่ยน (เย้า) ปะหร่อง ไทยใหญ่และจีนฮ่อ

5. ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย

(1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การถ่ายทอดความรู้และการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1 แผนงาน คือ แผนงานการจัดการการเรียนรู้

(2) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาจากองค์ความรู้และการบริการของภาครัฐ ประกอบด้วย 6 แผนงาน ดังนี้ (1) แผนงานการปรับใช้องค์ความรู้ตามสภาพภูมิสังคมของชุมชน (2) แผนงานการพัฒนาอาชีพและการตลาด (3) แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น (4) แผนงานการพัฒนาสังคม (5) แผนงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6) แผนงานการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน

(3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้ (1) แผนงานการพัฒนาระบบสารสนเทศและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการบูรณาการของชุมชน (2) แผนงานการอำนวยการและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน

6. ความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของประเทศ : แผนปฏิบัติการโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวเน้นกรอบแนวคิด และทิศทางการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ