คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) เป็นประธาน และเห็นชอบให้คณะกรรมการอำนวยการฯ ดังกล่าวยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงานต่อไป
การดำเนินงาน
คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายสรุปได้ ดังนี้
1. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณารวม 2 เรื่อง ดังนี้
1) หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1.1 เป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
1.2 ระยะเวลาดำเนินการแผนงาน/โครงการควรแล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2552
1.3 การให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 กรณีภัยแล้ง
1.4 ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ หรือภารกิจของหน่วยงานโดยไม่เกิดความซ้ำซ้อน
2) ที่ประชุมได้พิจารณา โครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 2 หน่วยงาน เป็นเงินทั้งสิ้น 14,247.2038 ล้านบาท ดังนี้
2.1 กรมทรัพยากรน้ำ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อใช้ในการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ 663 แห่ง ฝายน้ำล้น 5 แห่ง ฝายเสริมระบบนิเวศ 510 แห่ง ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำ 114 แห่ง และการบริหารจัดการติดตามและประเมินผล เป็นเงินทั้งสิ้น 4,552,278,800 บาท (สี่พันห้าร้อยห้าสิบสองล้านสองแสนเจ็ดหมื่นแปดพันแปดร้อยบาท)
2.2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านภัยแล้งทั่วประเทศ ดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั่วประเทศ รวม 74 จังหวัด เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับการเกษตร ดำเนินการใน 57 พื้นที่และโครงการจัดทำระบบประปาหมู่บ้าน เป็นเงินทั้งสิ้น 9,694,925,000 บาท
ในการนี้ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่สมควรสนับสนุน การขอรับการจัดสรรงบประมาณ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง และภารกิจที่ขอดำเนินการ มีลักษณะเป็นการป้องกันปัญหาไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ที่คณะอนุกรรมการกำหนด รวมทั้งเห็นว่างบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณในหลายแหล่งเงิน ประกอบกับได้มีการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนของหน่วยงานไปยังท้องถิ่นแล้ว หน่วยงานจึงน่าจะสามารถปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อมาสนับสนุนการให้การช่วยเหลือด้านภัยแล้งได้ ทั้งนี้ ได้มีข้อสังเกตในที่ประชุม ที่ขอให้การกำหนดแนวทางของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ควรจะต้องมีการดำเนินงานในลักษณะของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว
2. คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ตามลำดับ ดังนี้
2.1 กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 — 15 พฤษภาคม 2552 กล่าวคือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งจำนวน 53 จังหวัด รวม 491 อำเภอ 2587 ตำบล 19472 หมู่บ้าน โดยใช้รถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค มีการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช และเตือนให้ประชาชนคอยเฝ้าระวัง
2.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 จำนวน 24 จังหวัด การให้ความช่วยเหลือ มี 3 ด้าน คือ ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และ ด้านประมง
2.3 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ข่อนแก่น และจังหวัดแพร่
2.4 กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 — มีนาคม 2552 ดังนี้
1) ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่มีสาเหตุมาจากอาหารและน้ำ
2) การควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักป้องกันควบคุมโรค ในระดับเขตทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา ได้มีการเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำหรับการให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่มีปัญหาการเกิดโรคระบาด
3) มีการเตรียมยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้การสนับสนุนกับจังหวัดที่ประสบภัยตามที่มีการร้องขอ และจากการดำเนินการที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งในด้านสุขภาพของประชาชนยังไม่พบปัญหารุนแรง ซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการได้เอง ไม่มีการขอความช่วยเหลือมาที่ส่วนกลางแต่อย่างใด
2.5 กระทรวงแรงงาน ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือ ตามโครงการแรงงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัย เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัด เพื่อดำเนินโครงการฯ รวมทั้งสิ้น จำนวน 74 จังหวัด เป็นเงินจำนวน 286,355,500 บาท
2.6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือหลังจากเกิดภัยแล้งในเรื่องการจัดสรรน้ำ ดังนี้ 1) กรมชลประธานได้จัดสรรน้ำไปแล้ว 23,877 ล้านลบ.ม. 2) ได้ช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 15 จังหวัด แจกจ่ายน้ำ 11.262 ล้านลิตร 3) การประปาส่วนภูมิภาคได้สนับสนุนน้ำ 209 ลิตร 4) การเตรียมการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้งโดยสำนักฝนหลวง 1,544 เที่ยว ใน 57 จังหวัด 5) กรมทรัพยากรน้ำได้จัดสรรน้ำไปแล้ว 350,000 ลิตร และฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 61 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 31 แห่ง ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ดังนี้
1) ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีตรวจติดตามผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ข้อเสนอแนะในจังหวัดที่ยังพบว่า มีสถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในโอกาสที่ออกตรวจติดตามงานในงวดที่ 2 (มีนาคม — มิถุนายน2552)
2) สำหรับผู้ตรวจราชการกระทรวงอาจจะไปตรวจติดตามงานการให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในภารกิจของกระทรวง หรือหากไม่ได้ไปตรวจติดตามก็ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ต่อไป
3) ข้อมูลจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ให้ใช้ฐานข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2552) ที่รายงานสถานการณ์ภัยแล้งปี 2552 ว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 53 จังหวัด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--