มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2009 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. (ร่าง) กรอบนโยบายและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพจากการพัฒนาทรัพยากรแร่

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบกับ (ร่าง) กรอบนโยบายและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการพัฒนาทรัพยากรแร่

2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำ (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ไปปรับแก้ไขตามความเห็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบนโยบายฯ ดังกล่าว ไปดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

2. แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556)

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบต่อแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556) ตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2) มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

มติที่ประชุม

เห็นชอบตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศไทย ดังนี้

1. เห็นชอบต่อทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศไทย โดยเพิ่มเติมดังนี้

1) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ เพิ่มเติมพื้นที่ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก เกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และพรุคันธุลี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เพิ่มเติมพื้นที่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ พรุแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) จังหวัดระยอง

3) รายชื่อพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเร่งด่วนสมควรได้รับการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ โดยเพิ่มเติม จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช และหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

4) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการคุ้มครอง โดยเพิ่มเติม หนองหล่ม (ผนวกเพิ่มกับหนองบงคาย) จังหวัดเชียงราย พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดนครพนม สกลนคร และหนองคาย พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ชุ่มน้ำวัดห้วยจันทร์ จังหวัดลพบุรี อ่าวไทยตอนใน (โดยเฉพาะด้านตะวันตก แหลมผักเบี้ย บ้านปากทะเลและเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี) ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีและตราด เกาะสมุย และเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

5) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการฟื้นฟู โดยเพิ่มเติม หนองหลวง จังหวัดเชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน จังหวัดมหาสารคาม ลำปรายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี พื้นที่ชุ่มน้ำวัดอโศกการาม จังหวัดสมุทรปราการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดตาลเอนและพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุ่งโพธิ์ทอง/ทุ่งคำหยาด จังหวัดอ่างทอง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีและตราด อ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ชุ่มน้ำพรุบ้านไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต

6) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการศึกษาสำรวจ โดยเพิ่มเติม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (สัตว์น้ำ/ปลา) จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (ประชากร/ชนิดนก) จังหวัดนครพนม ปากแม่น้ำเวฬุและอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (สัตว์น้ำ/ปลา) จังหวัดกาญจนบุรี เกาะต่าง ๆ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ป่าชายเลนปะเหลียน-ละงู จังหวัดตรัง สตูล และพื้นที่ชุ่มน้ำพรุคันธุลี (ความหลากหลายทางชีวภาพ/ประชากร/ชนิดนก) จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2. เห็นชอบต่อมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

3. มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา

3.1 เห็นชอบในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย

3.2 เห็นชอบกับมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

4. ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ... และ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. .... และ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

2) เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป

5. ผลกระทบด้านมลพิษทางเสียงของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

มติที่ประชุม

1 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบทางเสียงของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้

1.1 การจัดการปัญหามลพิษทางเสียง

(1) ให้ความสำคัญและเคร่งครัดในการเลือกเส้นทางการบิน วิธีการบินและการใช้ทางวิ่งเพื่อควบคุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้อยู่ในบริเวณจำกัด

(2) เร่งรัดการโยกย้ายและจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงโดยเฉพาะในพื้นที่ NEF มากกว่า 40

(3) เร่งรัดและดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดระดับเสียงเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์และกำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการบินเพื่อจัดทำบทลงโทษแก่สายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมทั้งการนำข้อมูลจากการตรวจวัดเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

(4) ดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และตามมติคณะรัฐมนตรี อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

1.2 การป้องกันปัญหามลพิษทางเสียงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และระยะต่อๆ ไป โดยเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาสู่สาธารณชน พร้อมทั้งสร้างความรู้และความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

2. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเสียงของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ดังนี้

2.1 เห็นชอบการใช้กรอบพื้นที่สำหรับการดำเนินการชดเชยในปัจจุบันตามสัดส่วนการใช้ทางวิ่งด้านทิศเหนือ ในอัตราส่วน ฝั่งตะวันตก ร้อยละ 80 และฝั่งตะวันออก ร้อยละ 20 ทางวิ่งด้านทิศใต้ ฝั่งตะวันตก ร้อยละ 20 และฝั่งตะวันออก ร้อยละ 80 ตามมติ ครม. เมื่อ 29 พ.ค.50 และมติคณะกรรมการ ทอท. เมื่อ 21 มิ.ย.50 และใช้กรอบการชดเชยตามเส้นเสียงที่ ทอท. จัดทำทุก 2 ปี หลังเปิดดำเนินโครงการตามที่กำหนดในรายงาน EIA หากมีพื้นที่ผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคต

2.2 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยผลกระทบจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อใช้เป็นกลไกในการกำหนดมาตรการ วิธีการที่จะช่วยเหลือ และดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ประชาชนอาจได้รับจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกองทุนจะมีรายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนจากผู้ใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการต่างๆ ตลอดจนผู้โดยสารสายการบิน ส่วนรายจ่ายของกองทุนจะเป็นการจ่ายเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบ เช่น การจ่ายค่าชดเชยเพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือ การติดตั้งวัสดุลดเสียง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนที่อาศัยโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

6. การกำหนดมาตรฐานระดับเสียงของรถยนต์สามล้อ

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบกับการกำหนดมาตรฐานระดับเสียงของรถยนต์สามล้อที่ใช้ในทางขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่ โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณจะต้องมีค่าระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบลเอ เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถยนต์สามล้อ 0.5 เมตร

2) เห็นชอบให้มาตรฐานระดับเสียงของรถยนต์สามล้อ ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

3) เห็นชอบกับร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดระดับเสียงของรถยนต์สามล้อ

7. การกำหนดมาตรฐานความสั่นสะเทือนโดยทั่วไปเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออาคาร

มติที่ประชุม

1) เห็นชอบกับร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานความสั่นสะเทือนโดยทั่วไปเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออาคาร

2) เห็นชอบให้กรมควบคุมมลพิษ รับข้อสังเกตในการทบทวนการกำหนดมาตรฐานความสั่นสะเทือนของอาคารประเภทที่ 3 ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถาน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และหากมีข้อแก้ไขให้กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอการปรับปรุงค่ามาตรฐานฯ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาเพิ่มเติมต่อไป

8. ความเห็นต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาชลประทานอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

มติที่ประชุม

เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาชลประทานอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยให้กรมชลประทานดำเนินการ ดังนี้

1) ดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบและมาตรการติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัด

2) จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

3) นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

9. รายงานความก้าวหน้าของการกำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เป็นเขตควบคุมมลพิษ

มติที่ประชุม

1) รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการกำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

2) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานจังหวัดระยองทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนถึงแนวทางปฏิบัติ และการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ให้สอดคล้องตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หลังจากการประกาศพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ