คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างความตกลงฯ ซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในความตกลงฯ ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
3. อนุมัติการแจ้งฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า
1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ส่งร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ขอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย และจัดประชุมเตรียมการระหว่างหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องของไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2552 ตามลำดับ และทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบและมีการลงนามย่อในร่างความตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552
2. สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ มีดังนี้
2.1 คู่ภาคีจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศเกี่ยวกับอาชญากรรมทุกรูปแบบ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศของแต่ละฝ่ายและมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหาเบาะแส และปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ เช่น อาชญากรรมร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน การก่อการร้าย การทุจริต การลักลอบค้าอาวุธ การลักลอบค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
2.2 ในการขอความร่วมมือต้องส่งคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรระบุรายละเอียดตามที่กำหนดยกเว้นกรณีเร่งด่วน อาจร้องขอโดยวิธีอื่นแต่ต้องยืนยันคำร้องขอภายใน 3 วัน โดยต้องมีการลงนามและประทับตราโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของหน่วยงานที่ร้องขอ
2.3 ภาคีที่รับคำร้องขอสามารถปฏิเสธคำร้องขอ หากคำร้องขอนั้นกระทบต่ออธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ผลประโยชน์ของชาติ หรืออาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายภายในหรือพันธกรณีระหว่างประเทศของภาคีที่รับคำร้องขอ นอกจากนี้ การกระทำตามคำร้องขอต้องสามารถลงโทษได้ตามกฎหมายของภาคีที่ได้รับการร้องขอและหากภาคีที่รับคำร้องขอได้ปฏิเสธคำร้องขอ ก็ต้องแจ้งเหตุผลโดยพลัน
2.4 ภาคีที่ได้รับคำร้องขอต้องรักษาความลับของคำร้องขอและต้องไม่มีการเปิดเผยข้อสนเทศที่ได้รับต่อบุคคลที่สาม หากไม่ได้รับความยินยอมจากภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง
2.5 หน่วยงานของไทยที่มีอำนาจในการให้ความร่วมมือตามร่างความตกลงนี้ ได้แก่ กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การก่อการร้าย อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสมัยใหม่) ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง การก่อการร้ายและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสมัยใหม่)
2.6 ความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ภาคีฝ่ายหนึ่งแจ้งภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการภายหลังว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในของตนที่จำเป็น เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับเรียบร้อยแล้ว และจะมี ผลใช้บังคับจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าหกเดือน
3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน เป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน มีการผลิตน้ำมัน 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีปริมาณน้ำมันสำรอง 97.8 พันล้านบาร์เรล หรือร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั่วโลก และปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นลำดับที่ 4 ของโลก มีพลเมืองเป็นชาวต่างชาติประมาณร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าลำดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลางและเป็นประตู การค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกา ปี 2551 มูลค่าการค้ารวม 13,648.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 2,793.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของการนำเข้าทั้งหมด แต่ละปีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาไทยเป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย คนงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีประมาณ 12,000 คน ดังนั้น การลงนามความตกลงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในด้านต่างๆ มากขึ้น
4. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ร่างความตกลงฯ เป็นกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศของแต่ละฝ่าย ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 สิงหาคม 2552 --จบ--