ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 09:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า

1. เนื่องด้วยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงานบุคคล ภายใต้หลักเกณฑ์และมาตรฐานที่องค์กรบริหารงานบุคคลกำหนด โดยองค์กรบริหารงานบุคคลมีคณะกรรมการเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) คณะกรรมการกลางหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ., ก.ท., ก.อบต.) และคณะกรรมการพนักงานหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.จ.จ., ก.ท.จ. และ ก.อบต.จังหวัด) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีองค์ประกอบเป็นสามฝ่าย ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลที่ผ่านมาประสบปัญหาเกี่ยวกับความเข้มแข็ง ระบบคุณธรรม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว

2. ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล ซึ่งการบริหารงานบุคคลดังกล่าวต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ โดยให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพียงคณะเดียวที่มีองค์ประกอบเป็นสี่ฝ่าย และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเพื่อคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ประกอบกับมาตรา 303 (5) บัญญัติให้ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นภายในสองปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

3. ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 288 ที่บัญญัติให้การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น โดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกันและอาจได้รับการพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน และในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่พิทักษ์คุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดบทนิยามที่สำคัญ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษผู้บริหารท้องถิ่น ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญ เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)

2. ให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกโดยย่อว่า “ก.ถ.” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจำนวน 7 คน ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเท่ากัน 8 คน โดยให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นเลขานุการ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุม อำนาจหน้าที่ มาตรฐานและหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคล ตลอดจนการได้รับค่าตอบแทนของคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 6-ร่างมาตรา 19)

3. ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ก.ถ.” เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีเลขาธิการ ก.ถ.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ก.ถ. และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 20-ร่างมาตรา 21)

4. ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่นคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ถ.” ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยให้เลขาธิการ ก.ถ. เป็นเลขานุการ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของ ก.พ.ถ. ไว้ด้วย (ร่างมาตรา 31-ร่างมาตรา 32)

5. ให้มีคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ถ.ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน อัยการสูงสุด ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้เลขาธิการ ก.ถ.เป็นเลขานุการ ตลอดจนกำหนดลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่และการได้รับค่าตอบแทนของ ก.พ.ถ. (ร่างมาตรา 33-ร่างมาตรา 39)

6. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานใด ระดับใดจะได้รับเงินเดือนในอันดับใด ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.ถ.กำหนด ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานเงินเดือนดังกล่าวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ให้ ก.ถ.คำนึงถึงจำนวนรายได้ที่มาจากภาษี ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้นจัดเก็บ และความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย (ร่างมาตรา 43)

7. งบประมาณรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไม่สูงกว่าร้อยละสี่สิบของเงินรายได้จริงของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว โดยไม่รวมเงินกู้ เงินอุดหนุน และเงินอื่น (ร่างมาตรา 44)

8. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลข้าราชการส่วนท้องถิ่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการบรรจุและ การแต่งตั้ง การเพิ่มพูนประสิทธิภาพและการเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ คุณธรรมและจริยธรรม วินัยและ การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ (ร่างมาตรา 48-ร่างมาตรา 94)

9. ให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.ถ. กำหนด โดยจะต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด (ร่างมาตรา 96)

10. ให้ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และมีอำนาจในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายและเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 97)

11. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของลูกจ้าง และการบริหารงานบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ร่างมาตรา 99-ร่างมาตรา 102)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ