คณะรัฐมนตรีพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ก่อนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. เห็นชอบการปรับกรอบวงเงินค่างานโยธาของสัญญาที่ 6 (งานระบบราง) จากวงเงินที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 จำนวน 4,077 ล้านบาท เป็น 3,638 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ -บางซื่อ จำนวน 36,055 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 (เรื่อง ขออนุมัติขยายกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ)
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า
1. กระทรวงคมนาคมได้จัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC) และ รฟม. ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 ,2 และ 3 กับ JBIC เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 ซึ่งปัจจุบัน JBIC ได้โอนให้องค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสัญญาเงินกู้ดังกล่าวแทน โดยในส่วนของงานสัญญาที่ 6 (งานระบบราง) JICA จะพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ในงวดต่อไป ทั้งนี้ สัญญาเงินกู้ดังกล่าวมีเงื่อนไขกำหนดให้ รฟม. ดำเนินการประกวดราคาตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ของ JBIC (Guidelines for Procurement under JBIC ODA Loans) ซึ่งกำหนดให้เป็นการแข่งขันประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding : ICB) ซึ่งสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ที่ให้ รฟม. ดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์การประกวดราคานานาชาติ และมีการกำหนด Commitment Charge เท่ากับ ร้อยละ 0.1 ต่อปี ของจำนวนเงินกู้ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ JICA ในช่วงเวลานับจาก 120 วัน หลังจากลงนามสัญญาเงินกู้จนถึงวันแล้วเสร็จของงาน
2. ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการฯ : รฟม. ดำเนินโครงการฯ ในส่วนของการประกวดราคางานโยธาซึ่งประกอบด้วย งานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ (ส่วนตะวันออก) งานสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ (ส่วนตะวันตก) และงานสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอด ส่วนงานสัญญาที่ 6 งานระบบราง ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประกวดราคาเนื่องจากอยู่ในระหว่างการอนุมัติเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ JICA
2.1 การดำเนินงานประกวดราคางานโยธาสัญญาที่ 1 : คณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ได้เห็นชอบผลการประกวดราคาและการเจรจาราคาค่าก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 วงเงิน 14,842 ล้านบาท และเห็นชอบให้ปรับลดวงเงินสำรองจ่ายจากเดิม 600 ล้านบาท เหลือ 50 ล้านบาท ตามข้อเสนอแนะของที่ปรึกษา BBML ทำให้วงเงินสุดท้ายของสัญญาที่ 1 เป็นจำนวน 14,292 ล้านบาท โดย JICA ไม่ขัดข้อง (No objection) ต่อผลการประกวดราคางานโยธาสัญญาที่ 1 ที่กลุ่มบริษัท CKTC เป็นผู้ชนะการประกวดราคา (Successful Tenderer) ในวงเงิน 14,292 ล้านบาท ซึ่ง รฟม. จะลงนามในสัญญาว่าจ้างในลำดับต่อไป
2.2 การดำเนินงานประกวดราคางานโยธาสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 : คณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ได้เห็นชอบผลการประกวดราคาค่าก่อสร้างงานโยธาตามข้อเสนอแนะของที่ปรึกษา BBML โดยสัญญาที่ 2 เห็นชอบให้ปรับลดวงเงินสำรองจ่ายจากเดิม 450 ล้านบาท เหลือ 100 ล้านบาท จึงทำให้ วงเงินสุดท้ายของสัญญาที่ 2 เป็นจำนวน 13,100 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 ตามกรอบวงเงิน 5,450 ล้านบาท เห็นชอบให้ปรับลดวงเงินสำรองจากเดิม 450 ล้านบาท เหลือ 25 ล้านบาท จึงทำให้วงเงินสุดท้ายของสัญญาที่ 3 เป็นจำนวน 5,025 ล้านบาท โดย รฟม. อยู่ระหว่างการนำเสนอผลการประกวดราคาที่คณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบให้ JICA เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของสัญญาเงินกู้
3. การปรับลดกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 6 งานระบบราง : โดยที่การปรับราคาของสัญญาที่ 1, 2 และ 3 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 32,417 ล้านบาท จึงทำให้เหลือกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 6 เป็นจำนวนเงิน 3,638 ล้านบาท ดังนั้น รฟม. จึงขอปรับลดกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 6 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 จากเดิม 4,077 ล้านบาท (ราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551) เป็น 3,638 ล้านบาท เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานโยธาทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--