มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2552 (ครั้งที่ 126)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 16:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2552 (ครั้งที่ 126) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2552 (ครั้งที่ 126) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ซึ่งได้พิจารณาเรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยที่มาตรการดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคครัวเรือน โดยมุ่งเน้นการลดค่าครองชีพของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งได้มีมติ ดังนี้

1. ปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 2.00 บาท/ลิตร โดยอาศัยกลไกของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานควบคู่ไปกับกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการบริหารและจัดการ ดังนี้

(1) ยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่เก็บเพื่อส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งของทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ในอัตรา 0.50 บาท/ลิตร และให้โอนเงินที่ได้จัดเก็บไว้แล้วในส่วนนี้ประมาณ 7,596 ล้านบาท มาสมทบกับเงินสำหรับส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และลดอัตราจัดเก็บเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ของน้ำมันดีเซลสำหรับส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานจากที่เก็บอยู่ 0.25 บาท/ลิตร เหลือ 0.05 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 หลังจากนั้นให้กลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม คือ 0.25 บาท/ลิตร รวมลดอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ของน้ำมันดีเซล 0.70 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงได้ประมาณ 0.75 บาท/ลิตร

(2) ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซล ลง 1.17 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 1.70 บาท/ลิตร เป็น 0.53 บาท/ลิตร จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงประมาณ 1.25 บาท/ลิตร

การยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงได้ประมาณ 0.75 บาท/ลิตร ตามข้อ (1) ควบคู่ไปกับการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อทำให้ราคาขายปลีกลดลงประมาณ 1.25 บาท/ลิตร ตามข้อ (2) รวมกันแล้วจะทำให้สามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงได้ 2.00 บาท/ลิตร ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซล ลง 1.17 บาท/ลิตร จะส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับลดลงประมาณ 856 ล้านบาท/เดือน

(3) เพื่อจูงใจและส่งเสริมผู้ผลิต โดยให้มีค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 สูงกว่าน้ำมันดีเซล รวมทั้งจูงใจผู้ใช้น้ำมัน โดยทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล จึงจำเป็นต้องปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 อีก 0.58 บาท/ลิตร จากปัจจุบันซึ่งชดเชยอยู่ 0.23 บาท/ลิตร เป็นชดเชย 0.81 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล 1.20 บาท/ลิตร ทั้งนี้ การดำเนินการปรับอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับลดลงประมาณ 421 ล้านบาท/เดือน

(4) เพื่อไม่ให้การดำเนินการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ จึงต้องปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 0.50 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 7.00 บาท/ลิตร เป็น 7.50 บาท/ลิตร และน้ำมันเบนซิน 91 จำนวน 0.50 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 5.70 บาท/ลิตร เป็น 6.20 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับสูงขึ้นประมาณ 123 ล้านบาท/เดือน โดยที่การปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันทั้ง 2 ประเภท จะไม่ส่งผลทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มจะทำพร้อมไปกับการยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ในส่วนที่เก็บเพื่อส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งของน้ำมันเบนซิน ในอัตรา 0.50 บาท/ลิตร เช่นเดียวกัน ทั้งนี้การดำเนินการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 และปรับเพิ่มเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับรวมลดลงประมาณ 1,154 ล้านบาท/เดือน

2. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นระยะเวลา 1 ปี (สิงหาคม 2552-สิงหาคม 2553)

กระทรวงพลังงานได้อาศัยกลไกการกำหนดราคาขายส่งให้คงที่ในระดับ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือเทียบเท่า 10.99 บาท/กก. เพื่อทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG คงที่ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศต่ำกว่าต้นทุนการนำเข้าที่ปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือ เทียบเท่า 18.59 บาท/กก. ทำให้ผู้ผลิตและ ผู้ค้าก๊าซ LPG ขาดแรงจูงใจในการจัดหาและจำหน่ายก๊าซ LPG ในประเทศ และทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซ LPG ในประเทศอยู่ที่ระดับ 350,000 ตัน/เดือน จะไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ ในระดับประมาณ 74,000 ตัน/เดือน โดยเป็นภาระของกองทุนน้ำมันฯ ในการชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 10.00 บาท/กก. ทั้งนี้การดำเนินการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ต่อไปอีก 1 ปี คาดว่าจะเป็นภาระของกองทุนน้ำมันฯ ในการชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ 740 ล้านบาท/เดือน

3. มาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถแท็กซี่

กระทรวงพลังงานได้จัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นทางเลือก โดยเฉพาะในกลุ่มของรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงมาเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงแทนเพื่อลดปริมาณการนำเข้าก๊าซ LPG ในปัจจุบัน จำนวนรถแท็กซี่ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็น NGV ประมาณ 30,000 คัน โดยรถแท็กซี่ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนส่วนใหญ่เป็นรถแท็กซี่ LPG กระทรวงพลังงานจึงเห็นควรกำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถแท็กซี่ โดยปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่ที่เหลืออยู่จำนวน 30,000 คัน ให้เปลี่ยนมาใช้ NGV ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ คันละ 40,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่ที่เหลืออยู่ให้มาใช้ NGV จะสามารถช่วยประเทศในการลดการใช้ก๊าซ LPG ได้ประมาณ 30,000 ตัน/เดือน คิดเป็นเงินที่สามารถช่วยลดภาระกองทุน น้ำมันฯ จากการชดเชยการนำเข้าก๊าซ LPG ได้ประมาณ 300 ล้านบาท/เดือน

4. ตรึงราคา NGV เป็นระยะเวลา 1 ปี (สิงหาคม 2552-สิงหาคม 2553)

กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า NGV เป็นต้นทุนที่สำคัญต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนที่สำคัญต่อภาคขนส่ง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประกอบกับ ปัจจุบันราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและจัดทำแผนการขยายเครือข่ายรวมทั้งส่งเสริมการใช้ NGV อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ NGV เป็นทางเลือกของประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นควรที่จะตรึงราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ระดับ 8.50 บาท/กก. ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี (ส.ค. 52-ส.ค. 53)

เพื่อไม่ให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว กระทบต่อแผนการขยายเครือข่ายและส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ประกอบกับมติ กพช. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคา NGV โดยขอความร่วมมือจาก ปตท. ให้มีการกำหนดราคา NGV ในปี 2550-2551 ในระดับ 8.50 บาท/กก. แล้วจึงปรับราคา NGV ขึ้นแบบขั้นบันไดให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยในปี 2552 ปรับได้ไม่เกิน 12 บาท/กก. ปี 2553 ปรับได้ไม่เกิน 13 บาท/กก. และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปจึงปรับตามต้นทุนที่แท้จริง กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานรับไปดำเนินการชดเชยราคาขายปลีก NGV จากการที่ ปตท. ต้องขาย NGV ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ในลักษณะเดียวกันกับแนวทางการชดเชยราคาก๊าซ LPG จากการนำเข้า นอกจากนั้นในการดำเนินการชดเชยดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงมติ กพช. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ด้วย และมอบหมายให้ ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการขยายเครือข่ายรวมทั้งส่งเสริมการใช้ NGV เพื่อให้ NGV เป็นทางเลือกของประชาชนโดยเร็ว ทั้งนี้ การดำเนินการตรึงราคา NGV คาดว่าจะเป็นภาวะต่อกองทุนน้ำมันฯ ในการชดเชยราคาขายปลีก NGV ที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ประมาณ 300 ล้านบาท/เดือน

5. มาตรการตรึงค่า Ft จนถึงเดือนสิงหาคม 2553

ปัจจุบันค่า Ft ที่ประชาชนต้องจ่ายจะอยู่ในระดับ 92.55 สตางค์/หน่วย ซึ่งประกอบด้วย ค่าFt คงที่ 46.83 สตางค์/หน่วย และค่า Ft ที่เปลี่ยนแปลงไป (เดลต้า Ft) 45.72 สตางค์/หน่วย โดยปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับภาระค่า Ft แทนประชาชนประมาณ 20,000 ล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงเสนอให้มีมาตรการตรึงค่า Ft เพื่อเป็นการลดภาระของประชาชน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ตามที่ภาคอุตสาหกรรมได้ร้องขอ โดยกระทรวงพลังงานจะประสานการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับไปดำเนินการในรายละเอียดกับ กฟผ. และหน่วงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในทางปฏิบัติก็สามารถดำเนินการได้โดยการขยายเวลาการจ่ายคืนภาระค่า Ft ให้กับ กฟผ. การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะทำให้สามารถคงค่า Ft ในระดับ 92.55 สตางค์/หน่วย ได้จนถึงเดือนสิงหาคม 2553 ทั้งนี้ การตรึงค่า Ft จนถึงเดือนสิงหาคม 2553 โดยการขยายเวลาการจ่ายคืนภาระค่า Ft ให้กับ กฟผ. คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

6. การตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ ณ คลังน้ำมันและสถานีบริการ

การดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และกองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ลดลง 2 บาท/ลิตร และ 0.40 บาท/ลิตร ตามลำดับ จำเป็นต้องดำเนินการตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ ณ คลังน้ำมัน และสถานีบริการ เนื่องจากการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และกองทุนอนุรักษ์ฯ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลและดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ลดลง ผู้ผลิตจะส่งเงินเข้ากองทุนฯ พร้อมกับชำระภาษีสรรพสามิต ก่อนที่จะมีการขนส่งไปจำหน่ายในคลังน้ำมันและสถานีบริการทั่วประเทศ ดังนั้น น้ำมันที่จำหน่ายและคงเหลืออยู่ในคลังน้ำมันและสถานีบริการ จึงเป็นน้ำมันที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ แล้วทั้งสิ้น เมื่อมีการลดอัตราเงินกองทุนฯ จะไม่มีผลย้อนหลังไปยังน้ำมันที่จำหน่ายและคงเหลืออยู่ในคลังน้ำมัน และสถานีบริการ ซึ่งส่งเงินเข้ากองทุนฯ ไปแล้วในอัตราเดิม ทำให้ผู้ค้าน้ำมันและ เจ้าของสถานีบริการเกิดผลการขาดทุนจากน้ำมันคงเหลือที่ซื้อมาในราคาสูง มาลดราคาจำหน่ายตามอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ที่ลดลง ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการจะลดปริมาณน้ำมันคงเหลือที่ซื้อขึ้นมาในราคาเก่าให้เหลือน้อยที่สุด หรือหยุดจำหน่ายชั่วคราว อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันได้

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องมีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ ณ คลังน้ำมันและสถานีบริการ ตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันก่อนที่ประกาศราคาขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ และมีการชดเชยผลการขาดทุนให้แก่ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดทำร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ../2552 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม

เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปดำเนินการต่อไป

ประมาณการวงเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

ในการดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานต่อประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลจากมาตรการดังกล่าวข้างต้น คาดว่ามีวงเงินเพื่อการสนับสนุน ดังนี้

1. กองทุนน้ำมันฯ จำนวนทั้งสิ้น 27,530 ล้านบาท แบ่งเป็น ลดราคาน้ำมันดีเซล จำนวน 1,154 ล้านบาท/เดือนตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG จำนวน 740 ล้านบาท/เดือน ตรึงราคา NGV จำนวน 300 ล้านบาท/เดือน โครงการเปลี่ยนแท็กซี่ เป็น NGV 30,000 คันภายใน 4 เดือน จำนวน 300 ล้านบาท/เดือน

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินหมุนเวียนสุทธิ ประมาณ 3,104 ล้านบาท/เดือน ในกรณีที่ต้องสนับสนุนมาตรการดังกล่าวข้างต้น ทำให้กองทุนน้ำมัน ฯ มีรายรับลดลง 2,494 ล้านบาท/เดือน เหลือเงินหมุนเวียนสุทธิ 610 ล้านบาท/เดือน เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนและนโยบายการส่งเสริมการผลิตพลังงานให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย รวมทั้งสำรองไว้เพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

2. กฟผ. รับภาระการยืดเวลาการจ่ายคืนค่า Ft ของประชาชนประมาณ 10,000 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ