ขอความเห็นชอบในการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 16:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบในการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ภายใต้กรอบ

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการร่างบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Memorandum of Association Among the Bay of Bengal Initiative for Multi — Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC) for Establishment of BIMSTEC Energy Center)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ระหว่างการประชุมรัฐมนตรี BIMSTEC ณ สหภาพพม่า ในปี 2552

3. เห็นชอบให้เสนอเรื่องการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สำหรับงบประมาณที่ประเทศไทยจะต้องบริจาคให้กระทรวงพลังงานขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการกำหนดข้อบทว่าด้วยการมีผลใช้บังคับไปดำเนินการต่อไปด้วย

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพลังงานเสนอว่า

1. ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ณ กรุงนิวเดลี เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC (BIMSTEC Energy Center) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีองค์กรในการประสานงานอำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงานได้อย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการด้านพลังงานภายใต้กรอบ BIMSTEC โดยที่ประชุมมอบหมายให้อินเดียเป็นผู้ยกร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ซึ่งร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว ได้ผ่านการประชุมหารือทั้งในระดับผู้เชี่ยวชาญ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี BIMSTEC มาเป็นลำดับแล้ว

2. ในคราวประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2551 ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC และเสนอให้มีการลงนามร่างบันทึกข้อตกลงฯ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ณ ประเทศอินเดีย แต่ในคราวประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ไม่สามารถลงนามร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวได้ เนื่องจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศของตนให้แล้วเสร็จ จึงเห็นควรให้นำเสนอรัฐบาลของแต่ละประเทศพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามใน ช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 12 ณ ประเทศพม่า ในปี 2552 ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC จะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั้งหมดได้ลงนามแล้ว

3. กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยเกี่ยวกับการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลพลังงานในภูมิภาคจากศูนย์พลังงาน BIMSTEC ได้ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม เนื่องจากศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการในการอำนวยความสะดวก ในการประสานงานและการจัดการข้อมูลด้านพลังงาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศสมาชิก BIMSTEC รวมทั้งให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในกิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานภายในภูมิภาค BIMSTEC อันจะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานของไทยให้มีความก้าวหน้า และบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วในหลายกิจกรรมในภาคพลังงานของประเทศสมาชิก BIMSTEC มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะส่งผลต่อด้านนโยบายพลังงานของประเทศและ ด้านนโยบายต่างประเทศที่เป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบ BIMSTEC ในอนาคตต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์ของศูนย์พลังงาน : เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการในการอำนวยความสะดวกการประสานงาน การจัดการและการประเมินผลฐานข้อมูลพลังงานในภูมิภาค BIMSTEC รวมถึงการพิจารณากิจกรรมต่างๆ ด้านพลังงาน ตลอดจนการให้คำแนะนำเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานที่สำคัญสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานในกรอบ BIMSTEC

2. ลักษณะของความร่วมมือ : เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการสร้างขีดความสามารถและ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ การปรับปรุง การสร้างกฎเกณฑ์ และประสิทธิภาพด้านพลังงานร่วมกัน

3. โครงสร้างขององค์กร มีดังนี้

3.1 คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก จำนวนประเทศละ 1 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ซึ่งจะมีประธานคณะกรรมการบริหาร โดยเรียงตามลำดับอักษรชื่อประเทศสมาชิก และจะดำรงตำแหน่งโดยมีวาระ 1 ปี

3.2 ผู้อำนวยการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหาร ทั้งด้านนโยบาย การเงิน และการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี หรือขยายวาระการดำรงตำแหน่งได้อีก 2 ปี

3.3 ผู้อำนวยการศูนย์พลังงาน เป็นหัวหน้าสาขาพลังงานเฉพาะทางต่างๆ จำนวน 7 สาขา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี หรือขยายวาระการดำรงตำแหน่งได้อีก 2 ปี

4. กองทุนหรืองบประมาณ มาจาก 3 ส่วนดังนี้

4.1 งบประมาณหลัก ครอบคลุมสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น อาคาร อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และพาหนะ ซึ่งประเทศอินเดียในฐานะประเทศที่ตั้งของศูนย์พลังงานจะรับผิดชอบงบประมาณส่วนนี้

4.2 งบประมาณศูนย์ ฯ ครอบคลุมถึงเงินเดือน ค่าใช้จ่าย เครื่องใช้สำนักงาน จะได้มาจากเงินบริจาคของประเทศสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการบริหาร

4.3 งบประมาณโครงการครอบคลุมค่าใช้จ่ายของโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ รวมถึงกิจกรรมเสริมต่างๆ เช่น หลักสูตรอบรมค่าธรรมเนียมบริการทางวิชาชีพ สิ่งอำนวยความสะดวกและห้องพัก ฯลฯ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะได้หารือกับประเทศสมาชิกต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ