การทบทวนกฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 16:51 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การทบทวนกฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการดำเนินการ

ให้สอดคล้องกับมติ AFTA Council กรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม

คณะรัฐมนตรีพิจารณาการทบทวนกฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการดำเนินการให้สอดคล้องกับมติ AFTA Council กรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้

1. มอบหมายให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง) เร่งเสนอเรื่องการแก้ไขกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rule : PSR) ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสามารถให้การรับรองได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในเดือนตุลาคม ศกนี้

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง) เร่งดำเนินการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายผ่านประเทศที่สามเพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติได้ตามพันธกรณี

ความเป็นมา

1. การทบทวนกฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน

1.1 รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 และไทยได้ลงนาม ATIGA ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดย ATIGA บทที่ 3 เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ข้อ 28 วรรค 2 (เอ) ระบุว่า สินค้าที่อยู่ในภาคผนวก 3 (รายการกฎเฉพาะรายสินค้า) จะมีคุณสมบัติเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิด ก็ต่อเมื่อสินค้านั้น เป็นไปตามกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rule : PSR) ที่กำหนดไว้ในภาคผนวกนั้น

1.2 อาเซียนได้ทบทวนกฎ PSR เพื่อให้เป็นไปตามมติของ AFTA Council ครั้งที่ 20 ที่กำหนดว่าโดยหลักการทั่วไป กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน อย่างน้อย ควรเสรีเท่ากับกฎฯ ที่อาเซียนทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ และมติ AFTA Council ครั้งที่ 22 ที่กำหนดให้มีการทบทวนกฎ PSR อย่างต่อเนื่อง เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการทั่วไปดังกล่าว โดยเห็นชอบให้มีการปรับปรุงกฎ PSR ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน จำนวน 46 รายการ ให้สอดคล้องกับกฎ PSR ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

2. การดำเนินการให้สอดคล้องกับมติ AFTA Council กรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม

2.1 มาตรา 20 ของระเบียบวิธีปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ฉบับแก้ไข (Revised CEPT OCP) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ระบุว่า ในการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third-party invoicing) ต้องใช้ใบกำกับภาษีจากบริษัทที่ตั้งอยู่นอกอาเซียน ทำให้ไทยไม่สามารถให้สิทธิพิเศษภายใต้ Common Effective Preferential Traiff (CEPT) แก่สินค้าที่นำเข้ากรณี Third-party invoicing โดยใช้ใบกำกับภาษีจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา

2.2 มติ AFTA Council ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ได้แก้ไขข้อความให้ Third-party invoicing สามารถเป็นของประเทศสมาชิกและที่ไม่ใช่สมาชิกได้ ซึ่งกรมศุลกากรไทยจะต้องแก้ไขประกาศให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว แต่ขณะนี้กรมศุลกากรยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

เหตุผลความจำเป็น

เนื่องจากไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 23 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรม Millennium Hilton Hotel กรุงเทพฯ และที่ประชุมจะขอให้มีการรับรองกฎ PSR ที่แก้ไขใหม่ เพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และอาจจะสอบถามความคืบหน้าของไทยในกรณีการดำเนินการตามมติ AFTA Council เรื่องการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม แต่ไทยยังดำเนินการในทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่เรียบร้อย ดังนี้

1. กรณีการทบทวนกฎเฉพาะรายสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เนื่องจากกฎ PSR ซึ่งเป็นภาคผนวก 3 ถือเป็นองค์ประกอบ (Integral part) ของ ATIGA การแก้ไขจึงต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทำให้ยังไม่สามารถให้การรับรองกฎ PSR ใหม่ในการประชุม AFTA Council ครั้งที่ 23 นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเตรียมการเพื่อให้สามารถให้การรับรองกฎดังกล่าวได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ศกนี้

2. กรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม ไทยยังไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับมติ AFTA Council ครั้งที่ 22

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ