คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเดินทางไปราชการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไป ราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมงาน The 11th Japan International Seafood and Technology Expo 2009 และเป็นประธานในพิธีเปิด Thailand Pavilion ระหว่างวันที่ 21-25 กรกฎาคม 2552 ดังนี้
1. การร่วมงาน The 11th Japan International Seafood and Technology Expo 2009 และการเปิด Thailand Pavilion
1.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประเทศประจำกรุงโตเกียว ได้เข้าร่วมงาน The 11th Japan International Seafood and Technology Expo 2009 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2552 ซึ่งในงานดังกล่าวได้จัด Thailand Pavilion เพื่อแสดงถึงศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าประมงที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยของไทย โดยนำสินค้าประมงของไทยไปจัดแสดง อาทิ กุ้ง ปลาช่อนทะเล และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ รวมทั้งจัดให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองชิมอาหารที่ทำจากสินค้าประมงไทยดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
1.2 ในการเปิดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำให้ผู้ร่วมงานที่มีทั้งผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าสินค้าประมงในประเทศญี่ปุ่น และผู้ที่มาร่วมงานได้รับทราบว่าประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มุ่งพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาการผลิตตามแนวทางดังกล่าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
1.3 ในการเดินทางครั้งนี้ ได้นำเกษตรกรไทยที่ผลิตสินค้าประมงที่มีคุณภาพไปร่วมงาน เพื่อให้ได้รับทราบถึงรสนิยม ความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง ตลอดจนเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้นำเข้า และผู้บริโภคในญี่ปุ่น รวมทั้งได้มีโอกาสสำรวจสินค้าประมงของไทยในซุปเปอร์มาเก็ตญี่ปุ่น และได้เห็นสินค้าของประเทศอื่นๆ ที่วางขายทำให้เกิดแรงกระตุ้นและแนวคิดในการพัฒนาระบบการผลิตของตนต่อไปในอนาคต
2. การประชุมหารือกับภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องในการนำเข้าและการค้าสินค้าประมง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มผู้ค้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของญี่ปุ่น ดังนี้
2.1 กลุ่มธุรกิจของ SEAVALUE/RUBICON ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำเข้า ผู้ค้าและจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมง ประกอบด้วย TOP Intertrade/Thailand Fisheries บริษัท Sea Wealth Frozen Food จำกัด บริษัทจันทบุรี Frozen Food จำกัด Itochu Corporation และ Cooperatives Grocery Chain (CGC) Japan Co.Lrd., ทั้งนี้ บริษัท Sea Wealth Frozen Food จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทจันทบุรี Frozen Food จำกัด สำหรับ Itochu Corporation เป็นบริษัทที่จัดหาวัตถุดิบ อาทิ ปลาทูน่า และดำเนินการกระจายสินค้า ส่วน CGC เป็นบริษัทที่ดำเนินการด้านซุปเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีสาขากว่า 200 แห่ง มีบริษัทที่เป็นสมาชิกประมาณ 227 บริษัท มียอดจำหน่ายกว่า 4 ล้านล้านเยน ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภทอาหาร โดยนำเข้าผ่านกลุ่ม RUBICON ประมาณ 8% หรือประมาณ 1,400 ล้านเยน เป็นสินค้าประเภทกุ้ง สินค้าประมงแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง
จากการหารือพบว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีความเชื่อมั่นในระบบการควบคุมและการรักษาคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งผู้บริโภคญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อระบบการตรวจสอบย้อนหลัง (traceability) และในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจอาหารประเภทพร้อมปรุงและพร้อมบริโภคเป็นธุรกิจที่มีลู่ทาง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารที่บ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักธุรกิจญี่ปุ่นเห็นว่าประเทศไทยยังมีคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ที่ได้เปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าไทย
สำหรับการประมงทะเล นั้น ทาง Itochu Corporation เห็นว่าในเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ถ้าปลาทูน่ากระป๋องไทยได้รับการยกเว้นภาษี (จากปัจจุบัน 20%) จะทำให้สินค้าดังกล่าวสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดอียู อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเรื่อง IIIegal , Unreported and Unregulated (IUU) Fishing ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2553 นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าประมงไทยที่ส่งไปขายในสหภาพยุโรป
2.2 สมาคมผู้ค้าสินค้าประมงญี่ปุ่น (Japan Fish Trader Association :JFTA) เป็นสมาคมที่ทำหน้าที่ประสานข้อมูลการค้า จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าประมงให้แก่สมาชิก โดยมีบริษัทผู้ค้าสินค้าประมงอยู่เป็นสมาชิกอยู่ 53 บริษัท ในการหารือ ประธาน JFTA ได้แจ้งว่าญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าประมงจากหลายประเทศ สินค้าจากประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและระบบการควบคุมคุณภาพ แต่มีปัญหาด้านราคาที่อาจแพงกว่าสินค้าจากประเทศอื่น เช่น ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
3. การดูงานตลาดปลา Tsukiji (Tsukiji fish Market) ซึ่งเป็นตลาดค้าสินค้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลที่ ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจำหน่ายสินค้าประมงกว่า 400 ชนิด อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก หอยเม่น และสินค้าแปรรูปต่างๆ สินค้าที่ส่งเข้ามาในตลาดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ขนส่งโดยรถและเครื่องบิน ปัจจุบันมีเรือประมงเข้ามาเทียบท่าเพียงสัปดาห์ละ 2 ลำ เมื่อสินค้าเดินทางมาถึง ผู้ประมูลจะตรวจสภาพสินค้าที่ต้องการ การประมูลจะเริ่มเวลา 05.30 น. และสิ้นสุดเวลาประมาณ 07.00 น. ในด้านมาตรฐานสุขอนามัยนั้น มีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จาก Tokyo Metropolitan Government เพื่อให้เป็นไปตาม Food Hygiene Law
ผู้จัดการตลาดได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การที่ประเทศไทยได้พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน โดยใช้ตราสัญลักษณ์ Q Mark นับเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถคัดกรองสินค้าได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรพยายามประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Q Mark ให้เป็นที่รู้จักในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อเน้นให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยอาหาร
4. การดูงานด้าน Biomass ที่ Wagoen Corporation เป็นกลุ่มเกษตรกรอยู่ในเขตชิบะ ซึ่งชิบะมีประชากรอยู่ 1.9 ล้านคน มีผลผลิตทางการเกษตรสูงเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น สำหรับ Wagoen มีแนวคิดหลักในการสร้างจิตสำนึกในสมาชิกทุกคนผลิตเพื่อผู้บริโภค โดยเน้นการผลิตที่ยั่งยืน มีกิจกรรมต่างๆ ครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การจำหน่ายและกระจายสินค้า การนำสิ่งเหลือใช้และเศษวัสดุจากการทำเกษตรกรรมมาใช้ประโยชน์ โดยการนำไปทำปุ๋ยหมักและผลิตพลังงานจาก biomass ทั้งนี้ กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่นในการดำเนินการด้าน Biomass จนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม นำสิ่งเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอย่างทั่วถึง
5. ข้อคิดเห็น
5.1 จากการเดินทางครั้งนี้พบว่า สินค้าประมงของไทยยังคงเป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งอื่น โดยเฉพาะ เวียดนาม นับเป็นคู่แข่งที่นับว่ามีศักยภาพและมีการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานรวดเร็วขึ้น และยังได้เปรียบประเทศไทยในด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าแรงงานในประเทศไทย ดังนั้น สินค้าไทยไม่ควรใช้การแข่งขันด้านราคาแต่ต้องมุ่งการพัฒนาด้านคุณภาพ มาตรฐาน การเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ eating out industry หดตัว ประเทศไทยควรมุ่งพัฒนาสินค้าประเภทพร้อมปรุงและพร้อมบริโภคมากขึ้น
5.2 ควรมีการผลักดันให้การพัฒนาในด้าน Biomass ของไทยเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดภาระการพึ่งพิงพลังงานจากแหล่งอื่น โดยอาจเริ่มเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยนำวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์มาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตปุ๋ย อาหารสัตว์และผลิตพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถลดภาวะโลกร้อน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมีการเกษตรได้อีกด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2552 --จบ--