ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 10:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า

1. คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่าให้มีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบหรือทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนรวมทั้งออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ขยายและยกเลิกอายุความในคดีอาญาบางประเภทและคดีทุจริต ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ในทุกระดับอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ส่งเสริมคุณธรรมคู่ความรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง”

2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) เห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

3. นอกจากนี้ได้พิจารณาเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนของการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 84 ที่กำหนดให้การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ให้ยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือ ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี อีกทั้งไม่สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารฯ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับที่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองลงมาเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไปนั้น จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้มาตรฐานการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เกิดความลักลั่นกัน จึงสมควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีแจ้งเป็นข้อสังเกตให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกันต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐ ให้สามารถทำได้แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว และการกล่าวหาจะทำเป็นวาจาหรือหนังสือก็ได้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 24) โดยมีข้อแตกต่าง ดังนี้

พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการ                       ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ศ. 2551                      ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
มาตรา 24  การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการหรือ            มาตรา 24 การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการหรือ
เกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐ  จะทำด้วยวาจา            เกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐ  ให้กล่าวหาได้
หรือทำเป็นหนังสือก็ได้                                        แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการ

เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ทั้งนี้

การกล่าวหาดังกล่าวจะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้

1.2 ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. รับหรือพิจารณาเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนถูกกล่าวหาเกินกว่าห้าปี (ร่างมาตรา 4 ยกเลิกมาตรา 26 (4)) โดยมีข้อแตกต่าง ดังนี้

พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการ                        ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ศ. 2551                       ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
มาตรา 26 ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. รับหรือพิจารณา             ให้ยกเลิกความใน (4) ของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติ
เรื่องดังต่อไปนี้ฯลฯ                                           มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม
(4) เรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของ                  การทุจริต พ.ศ. 2551
รัฐก่อนถูกกล่าวหาเกินกว่าห้าปี

2. ข้อสังเกต

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สมควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกันต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ