คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า
1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับการเรียกร้องจากภาคธุรกิจเกี่ยวกับข้อขัดข้องบางประเภทในการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท เนื่องจากมีบทบัญญัติบางมาตราที่สร้างภาระและ เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ภาคธุรกิจมีภาระที่ต้องส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นและต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ด้วย การประชุมกรรมการไม่มีความคล่องตัวเพราะต้องมาประชุม ณ สถานที่เดียวในการนัดเรียกประชุม การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต้องยื่นจด ณ สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ทั้งๆ ที่ภาครัฐได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานแล้ว เป็นต้น
2. กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 ห้างหุ้นส่วนและบริษัทที่ใช้บังคับอยู่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน สร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชนและเป็นอุปสรรคในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าว เห็นสมควรแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขบทบัญญัติให้ผู้ประสงค์จะขอยื่นจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแห่งใดก็ได้ที่มีความพร้อมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4)
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจยกเว้นค่าธรรมเนียม การจดทะเบียน การตรวจเอกสาร การขอใบสำคัญ และการขอคัดสำเนาพร้อมคำรับรองของห้างหุ้นส่วนและบริษัท (ร่างมาตรา 5)
3. แก้ไขบทบัญญัติให้หนังสือบริคณห์สนธิซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว แต่มิได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง เป็นบริษัทจำกัดภายใน 10 ปี สิ้นผลลง (ร่างมาตรา 6)
4. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้การประชุมกรรมการสามารถใช้วิธีการประชุมคณะกรรมการโดยการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมวิธีเดียว (ร่างมาตรา 7)
5. แก้ไขบทบัญญัติให้การบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่คงไว้เพียงส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น โดยยกเลิกการลงโฆษณาคำบอกกล่าวทางหนังสือพิมพ์เว้นแต่บริษัทมีหุ้นชนิดออกให้ผู้ถือที่ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แห่งท้องที่ด้วย (ร่างมาตรา 8)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--