รายงานการบริหารจัดการความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศไทยเนื่องจากปัญหาการจ่ายก๊าซธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 14:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานรายงานการบริหารจัดการความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศไทย เนื่องจากปัญหาการจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช และแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ในระหว่างวันที่ 13 — 18 สิงหาคม 2552 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนี้

1. การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 70 โดยในปัจจุบันพบว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่หยุดซ่อมและเกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2552 ดังนี้

1.1 แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แปลง A18 (JDA A18) หยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนระหว่างวันที่ 9 — 19 สิงหาคม 2552 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบจำนวน 440 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจาก ปตท. สามารถเรียกก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นขึ้นมาทดแทน อย่างไรก็ตาม จะมีผลทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ

1.2 แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช พบปัญหาท่อ condensate ขนาด 8 นิ้ว บนแท่นผลิตรั่วซึม ในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 เวลา 13.30 น. จึงจำเป็นต้องลดการจ่ายก๊าซธรรมชาติจากปกติ 630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหยุดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ในเวลา 16.00 น. ซึ่งต่อมา ปตท. สผ. ได้แก้ไขปัญหาท่อ Condensate รั่ว แล้วเสร็จเวลา 18.50 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2552 ตามแผนที่วางไว้ และเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิต และคาดว่าจะจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ. ได้ปกติวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ ปตท. ได้ประสานงานกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นให้เพิ่มกำลังการผลิตสูงสุด และปรับการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แต่พว่าความสามารถในการจ่ายก๊าซธรรมชาติยังคงต่ำกว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

1.3 ต่อมาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สหภาพพม่า ได้หยุดการผลิตฉุกเฉิน (ESD1) เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิค ในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ในระหว่างเวลา 08.45 น. — 10.24 น. แต่ยังคงจ่ายก๊าซธรรมชาติบางส่วนให้ ปตท. จากปริมาณสำรองในท่อส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งยาดานา และ ปตท. แจ้งขอให้ กฟผ. ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงตามสัดส่วน เพื่อรักษาความดันก๊าซธรรมชาติ

2. จากเหตุการณ์ข้างต้น กฟผ. ได้บริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนี้

2.1 ปัญหาแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช

2.1.1 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพลังงานทดแทนเต็มที่ รวมถึงการซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกำลังผลิตตามสัญญาตลอด 24 ชั่วโมง

2.1.2 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนห้วยเฮาะในสาธารณรัฐประชาชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นต้น โดยเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์บางส่วน

2.1.3 ใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี รวมทั้ง เพิ่มการผลิตจากน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่

2.2 ปัญหาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สหภาพพม่า

2.2.1 ภายใต้เหตุฉุกเฉินและกะทันหัน กฟผ. จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มเติม หลังจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นและโรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่นมีการผลิตเต็มที่แล้ว และมีความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าจะเกิดขัดข้องและอาจเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง

2.2.2 ทั้งนี้ จากการเพิ่มการเดินเครื่องเขื่อนศรีนครินทร์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณ ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งห่างจากเขื่อนท่าทุ่งนา ประมาณ 60 กิโลเมตร บนลำน้ำแควใหญ่ ระดับน้ำสูงกว่าระดับปกติ 2.7 เมตร ในเบื้องต้นมีความเดือดร้อนใน 8 ตำบล ความเสียหายเกิดกับรีสอร์ท 3 แห่ง แพ และพื้นที่เกษตรบางแห่ง ซึ่งขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ กฟผ.ได้เร่งเข้าไปประเมินความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2.3 การดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน

2.3.1 กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. จะให้ความช่วยเหลือและรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

2.3.2 กระทรวงพลังงานจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งหมด และจะได้พิจารณาปรับปรุงข้อจำกัดในการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

2.3.3 กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า เขื่อนครีนครินทร์มีความ มั่นคง และได้มีการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนเป็นประจำ รวมทั้งมีการตรวจสอบและรับรองจากสถาบันทางวิชาการภายนอกซึ่งยืนยันว่าเขื่อนศรีนครินทร์มีความมั่นคงสูง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ