คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เสนอ
ข้อเท็จจริง
1. เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ 48/2552 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะแรก และพัฒนาเว็บไซต์ช่วยชาติ โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์) เป็นประธานคณะทำงานฯ
2. คณะทำงานฯ ได้จัดประชุมและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะแรก จำนวน 16 โครงการ จนถึงสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2552 และสรุปรายงานผลความคืบหน้าและผลสำเร็จของโครงการ การดำเนินงานและการใช้งบประมาณ สรุปได้ดังนี้
2.1 โครงการที่มีลักษณะสนับสนุนให้กับบุคคล ถือว่ามีความคืบหน้าและเบิกจ่ายงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ โครงการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี (เรียนฟรี 15 ปี) โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ (เช็คช่วยชาติ) โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ (เบี้ยกตัญญู) โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีผลการดำเนินการที่มีความคืบหน้าร้อยละ 100 และมีการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับไปแล้วร้อยละ 80 — 95
2.2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง มีความคืบหน้าเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และก่อสร้างไปมาก แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
(1) โครงการที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน มีความคืบหน้าในการดำเนินการสูง และทำสัญญาผูกพันงบประมาณไปเกือบหมดแล้ว (ร้อยละ 70.93) ดำเนินการไปแล้ว 64 จังหวัด และมีงบประมาณเหลือจากการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าราคา ได้จัดสรรงบประมาณสร้างเพิ่มขึ้นอีก 8 หลัง
(2) โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ (พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก) มี 483 โครงการ จัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 465 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 96.3 ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก
(3) โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร (แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร) ได้มีความคืบหน้าร้อยละ 70 การใช้งบประมาณร้อยละ 41.08
- กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการขุดสระน้ำ 4,000 บ่อ ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ได้จัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ มีงบประมาณเหลือ 86,540 บาท
- กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณ 1,933 ล้านบาท จัดหาแหล่งน้ำ151 โครงการ (แล้วเสร็จ 4 โครงการ คืบหน้าร้อยละ 80 — 90 มี 20 โครงการ คืบหน้าร้อยละ 60 — 79 มี 28 โครงการ คืบหน้าร้อยละ 40 — 59 มี 32 โครงการ คืบหน้าน้อยกว่าร้อยละ 40 มี 67 โครงการ)
(4) โครงการก่อสร้างทางภายในหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน (ถนนปลอดฝุ่น) ก่อสร้าง 798 เส้นทาง จำนวน 490 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 142.5 กิโลเมตร จัดซื้อจัดจ้างครบหมดทุกเส้นทางแล้วร้อยละ 99.96 มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วร้อยละ 38.9
(5) โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย ได้รับงบประมาณ 1,095 ล้านบาท ปรับปรุงสถานีอนามัย 2,597 แห่ง ขณะนี้ทำสัญญาแล้ว 2,100 แห่ง (ร้อยละ 80.8) มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ร้อยละ 13 (137 ล้านบาท)
2.3 โครงการช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนเพื่อบรรเทาภาวะทางเศรษฐกิจ
(1) อาจกล่าวได้ว่าโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน มีความคืบหน้าการดำเนินการมากที่สุดร้อยละ 100 คือมีการจ่ายเงินตามเป้าประสงค์
- การรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการรถเร็ว 8 ขบวนเต็มทุกขบวนรถขบวนธรรมดาจะมีความหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน
- ขสมก. ประชาชนใช้บริการ 4 แสนคนต่อวัน บริการรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 73 เส้นทาง
- การไฟฟ้านครหลวง/ส่วนภูมิภาค ประชาชนได้รับประโยชน์ 11 ล้านครัวเรือน (สามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศได้ 973 ล้านบาทต่อเดือน) ประชาชนที่ต้องการใช้บริการนี้ต้องประหยัดการใช้ ไฟฟ้าตามอัตราที่กำหนด
- การประปานครหลวง จำนวนผู้ใช้บริการ 4 ล้านคน
- การประปาส่วนภูมิภาค จำนวนผู้ใช้บริการ 1,956,793 ครัวเรือน
(2) โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน (ธงฟ้าช่วยประชาชน) ได้รับงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ใช้จ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 726.5 ล้านบาท (อยู่ระหว่างดำเนินการ 627 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 98.5 ล้านบาท) ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 81.85
(3) โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้รับงบประมาณ 1,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 35
(4) โครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (ช่วยเหลือ SMEs) ได้รับงบประมาณ 500 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 71.3 ล้านบาท ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 32.59
2.4 โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน (ต้นกล้าอาชีพ) เป็นโครงการที่ต้องการบรรเทาปัญหาการว่างงานของประชาชน และบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ได้รับงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน — กันยายน 2552 มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ว่างงาน 240,000 คน ณ เดือนกรกฎาคมมีผู้เข้าร่วมโครงการและเข้ารับการอบรมแล้วจำนวน 192,301 คน อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 3,505 ล้านบาท ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 80.12
2.5 โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ชุมชนพอเพียง) ได้รับงบประมาณ 15,200 ล้านบาท และงบประมาณเดิมจากโครงการ SML อีก 6,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้มีการอนุมัติโครงการของชุมชนแล้ว 31,582 ชุมชน คิดเป็นงบประมาณ 8,432 ล้านบาท และปัจจุบันได้โอนงบประมาณให้ชุมชนไปแล้ว 21,486 ชุมชน คิดเป็นเงิน 5,238 ล้านบาท ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 48.67
2.6 โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณ 325 ล้านบาท ขณะนี้ได้ใช้งบประมาณไปเพียง 6.45 ล้านบาท (กระทรวงการต่างประเทศใช้ 1.45 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรีใช้ 5 ล้านบาท)
ข้อสังเกต
1. โครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่มีลักษณะเงินอุดหนุนแบบจ่ายขาด สามารถดำเนินการมีความคืบหน้าและได้ผลดี และมีการเบิกจ่ายตามเป้าหมาย สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างนับว่าคืบหน้าไปมาก มีการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้จึงอยู่ในช่วงของการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งหลายหน่วยงานยืนยันว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายน 2552 จะสามารถเบิกจ่ายได้แล้วเสร็จ
2. โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำและถนนในชุมชน ประชาชนในท้องถิ่นจะเริ่มได้รับประโยชน์ภายหลังเดือนกันยายนนี้ เมื่อการดำเนินการมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วเสร็จ ยกเว้น โครงการปรับปรุงสถานีอนามัยที่ยังมีความ คืบหน้าเพียงร้อยละ 50 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเขียนของบประมาณของหน่วยงานเพื่อของบประมาณ และขั้นตอนการขออนุมัติโครงการซึ่งอาจจำเป็นต้องกันเงินงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายหลังเดือนกันยายน 2552
3. มีบางโครงการ อาทิ โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศที่มีงบประมาณ 325 ล้านบาท แต่ใช้ไปเพียง 15 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายและลักษณะของโครงการไม่มีความชัดเจน มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
4. โครงการที่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี (เรียนฟรี 15 ปี) โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ (เช็คช่วยชาติ) โครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ (เบี้ยกตัญญู)โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก และโครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ เมื่อพิจารณาตรวจสอบข่าวสารการประชาสัมพันธ์ ภายหลังการดำเนินโครงการพบว่า ไม่มีข่าวสารต่อเนื่องในลักษณะการติดตามผล และการสัมภาษณ์ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จากการสอบถามหน่วยงานต่างๆ พบว่าไม่มีงบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการนี้ ซึ่งในประเด็นนี้ควรมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อไป
อนึ่ง คณะทำงานฯ จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ เพื่อสรุปผลความคืบหน้านำเสนออีกครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายน 2552 และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ช่วยชาติต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--