สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 14:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2552 ซึ่งสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2552) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 11-17 สิงหาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน ลพบุรี และจังหวัดลำปาง รวม 4 อำเภอ 1 เทศบาล 8 ตำบล 13 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 1,000 ไร่ แยกเป็น

1) จังหวัดน่าน เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอท่าวังผา เขตเทศบาลตำบลท่าวังผา จำนวน 3 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 3,4,5) และที่อำเภอปัว 1 ตำบล ได้แก่ ตำบลเจดีย์ชัย (หมู่ที่ 1,2,8) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 50 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

2) จังหวัดลพบุรี เกิดฝนตกหนักในเขตอำเภอเมืองวัดได้ 164.9 มม. ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และชุมชนในอำเภอเมือง ในพื้นที่ตำบลเขาสามยอด ท่าแค เขาพระงาม ทะเลชุบศร ถนนใหญ่ท่าศาลา ท่วมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 0.25-0.50 ม. สถานการณ์ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

3) จังหวัดลำปาง เกิดฝนตกหนักในเขตอำเภอวังเหนือวัดได้ 85.0 มม. ทำให้น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมตำบลบ้านใหม่ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

1.2 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น และเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงิน ทดรองราชการ ฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป

อนึ่ง จากกรณีที่ระดับน้ำในลำน้ำแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี มีระดับที่สูงขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2552 เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ สาเหตุจากแหล่งผลิตก๊าซในอ่าวไทยและแหล่งผลิตก๊าซในประเทศสหภาพพม่ามีปัญหาด้านเทคนิค ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อนดังกล่าวเพื่อผลิตไฟฟ้าชดเชย ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแม่กลอง ใต้เขื่อนท่าทุ่งนาลงไป มีระดับสูงสุดกว่าปกติไม่เกิน 2 เมตร โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและจังหวัดกาญจนบุรี ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำแควใหญ่ให้ทราบแล้ว และได้ลดการระบายน้ำ จนระดับน้ำลดลง เข้าสู่ภาวะปกติในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552 กับได้ยืนยันว่า เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนท่าทุ่งนา มีความมั่นคงแข็งแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากปัญหาความมั่นคงของเขื่อนทั้ง 3 แห่ง แต่อย่างใด

ความเสียหายเบื้องต้น รีสอร์ท 3 แห่ง ที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี (หลุบพญารีสอร์ท บ้านพักเสียหาย 10 หลัง คำแสดรีสอร์ท บ้านพักเสียหาย 3 หลัง บ้านเรือนแถว 12 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง โรงเพาะเห็ด (เห็ด 1,000 ก้อน) รอยัล ริเวอร์แคว รีสอร์ท แอนด์สปา กาญจนบุรี บ้านพักเสียหาย 2 หลัง อาคารบริการสปา 1 หลัง) ในเขตเทศบาลตำบลหนองบัว ร้านค้าเรือนแถว ถูกน้ำท่วมสินค้าได้รับความเสียหายบางส่วน 24 ห้อง

การให้ความช่วยเหลือ

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผู้อำนวยการเขื่อนทั้ง 3 แห่ง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฉุกเฉิน (WAR ROOM) ณ ที่ทำการเขื่อนท่าทุ่งนา ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2552 และได้ดำเนินการ ดังนี้

1) ตรวจติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและสื่อมวลชน

2) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน

3) ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2552

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 16-17 สิงหาคม 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมทะเล อันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทย ทำให้บริเวณทั่วประเทศมีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย จากนั้นในช่วงวันที่ 20-22 สิงหาคม 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทย ทำให้บริเวณด้านตะวันตกของประเทศ และภาคตะวันออกจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ