ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการเช็คช่วยชาติ พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 15:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานการจัดทำข้อมูลสถิติการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการเช็คช่วยชาติ พ.ศ. 2552 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ (เฉพาะในเขตเทศบาล) มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 7,800 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 19 — 30 พฤษภาคม 2552 โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้นำผลการสำรวจไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบาย ประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานโครงการดังกล่าวต่อไป ผลการสำรวจมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้

1. การรับทราบโครงการเช็คช่วยชาติ ประชาชนโดยรวมในทุกภาค ระบุว่า รับทราบเกี่ยวกับโครงการนี้ร้อยละ 95.3 และไม่ทราบร้อยละ 4.7

2. การมีสิทธิ์รับเช็คช่วยชาติ มีประชาชนที่ระบุว่ามีสิทธิ์รับเช็คร้อยละ 50.2 และไม่มีสิทธิ์รับเช็คร้อยละ 47.2 ส่วนที่ไม่มีสิทธิ์รับเช็คแต่ได้ใช้สิทธิ์นั้น โดยขอซื้อเช็คต่อจากผู้อื่น หรือได้เช็คจากญาติ พี่น้อง รวมทั้งเก็บเช็คได้มีร้อยละ 0.8 และที่ไม่ทราบมีร้อยละ 1.8

3. ประเภทของผู้มีสิทธิ์รับเช็ค ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเช็คระบุว่า เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่มีสิทธิ์รับเช็ค ร้อยละ 80.9 เป็นบุคลากรภาครัฐ ร้อยละ 15.0 เป็นกลุ่มบุคคล 6 กลุ่ม (ตามมติ ครม. เมื่อ 17 มี.ค.2552) ร้อยละ 3.5 และอื่นๆ อีกร้อยละ 0.6

4. การได้รับเช็คช่วยชาติ และการนำเช็คไปใช้ ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเช็คระบุว่า ได้รับเช็คแล้วร้อยละ 95.3 และยังไม่ได้รับเช็คร้อยละ 4.4 ส่วนที่มีสิทธิ์ได้รับเช็คแต่ไม่รับมีร้อยละ 0.3 และในจำนวนผู้ที่ได้รับเช็คแล้ว ระบุว่าได้มีการใช้เงินจากเช็คแล้วสูงถึงร้อยละ 95.3 และที่ยังไม่ได้ใช้เงินจากเช็คมีเพียงร้อยละ 4.7

5. การรับทราบกำหนดอายุของเช็ค ในจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์รับเช็คช่วยชาติ พบว่า มีผู้ที่ทราบกำหนดอายุของเช็คว่ามีอายุ 6 เดือน นับจากวันที่ระบุภายในเช็ค ร้อยละ 45.2 และที่ไม่ทราบกำหนดอายุของเช็ค ร้อยละ 54.8

6. เมื่อสอบถามประชาชนที่มีการใช้เงินจากเช็คแล้ว พบว่า ร้อยละ 71.9 นำเช็คไปขึ้นเป็นเงินสดแล้วใช้ทั้งหมด ร้อยละ 18.9 นำเช็คไปขึ้นเป็นเงินสดแล้วใช้บางส่วน ร้อยละ 8.3 นำเช็คมาใช้จ่ายกับร้านที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับส่วนลด/รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 นำเช็คขายต่อผู้อื่นในราคามากกว่า 2,000 บาท เป็นต้น และในจำนวนผู้ที่ยังไม่ใช้เงินจากเช็ค ให้เหตุผลว่า นำไปฝากธนาคารเพื่อเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็น ร้อยละ 66.8 และยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินร้อยละ 23.0

7. ประเภทของการใช้จ่ายเช็ค ประชาชนระบุว่าได้นำเช็คไปใช้จ่าย 5 ประเภทแรก ดังนี้ นำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น ร้อยละ 71.5 ใช้ชำระหนี้ ร้อยละ 11.4 ให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง ร้อยละ 4.9 ใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 4.0 และใช้เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 3.0

8. การใช้จ่ายเงินเมื่อมีเช็คช่วยชาติ ประชาชนที่มีการใช้เงินจากเช็คแล้ว ร้อยละ 78.3 ระบุว่า มีหรือไม่มีเช็คช่วยชาติก็ใช้จ่ายเงินตามปกติ และร้อยละ 21.6 ใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติเมื่อมีเช็คช่วยชาติ

9. ระยะเวลาการใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากเช็ค เมื่อสอบถามประชาชนที่มีการใช้เงินจากเช็คช่วยชาติว่าจะใช้จ่ายเงินทั้งหมดภายในเวลาเท่าใด ร้อยละ 56.0 ระบุว่าจะใช้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ร้อยละ 25.4 ใช้หมดภายใน 2 สัปดาห์ ร้อยละ 7.5 ใช้หมดภายใน 4 สัปดาห์ ส่วนที่ระบุว่าจะใช้หมดภายใน 3 สัปดาห์ และมากกว่า 4 สัปดาห์ มีร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ

10. ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเช็คช่วยชาติ ระบุว่า เงินช่วยเหลือค่าครองชีพฯที่ได้รับจากโครงการเช็คช่วยชาตินี้ช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนด้านการเงินได้ถึงร้อยละ 93.7 (โดยช่วยได้ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.6 น้อยร้อยละ 23.5 มากร้อยละ 18.6) และที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยฯ มีเพียงร้อยละ 6.3

11. ประชาชนร้อยละ 82.0 ระบุว่าพึงพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพฯจากโครงการเช็คช่วยชาติ (โดยพอใจในระดับปานกลางร้อยละ 51.9 มากร้อยละ 21.3 น้อยร้อยละ 8.8) ส่วนที่ไม่พอใจมีร้อยละ 11.4 และไม่แน่ใจร้อยละ 6.6 โดยผู้ที่ตอบว่าพอใจน้อย ให้เหตุผลว่า ไม่มีสิทธิ์รับเช็คหรือไม่มีประกันสังคม ส่วนผู้ที่ไม่พอใจ ให้เหตุผลว่า ควรแจกให้ทุกคนรวมทั้งคนไม่มีสิทธิ์รับเช็คด้วย

12. ประชาชน ระบุว่าเงินช่วยเหลือค่าครองชีพฯจากโครงการเช็คช่วยชาติ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนได้ ในระดับปานกลางร้อยละ 46.3 น้อยร้อยละ 24.5 มากร้อยละ 16.3 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.9

13. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการเบิกจ่ายเช็คช่วยชาติ มีประชาชนกว่าร้อยละ 69 เห็นว่าการบริหารจัดการเบิกจ่ายเช็คฯ เหมาะสมดีแล้วในทุกเรื่อง สำหรับประเด็นที่เห็นว่ายังไม่เหมาะสมมากที่สุดนั้น มีประชาชน เห็นว่าเรื่องวงเงินที่จ่าย 2,000 บาท ยังไม่เหมาะสมร้อยละ 30.7 และเรื่องการจ่ายเงินเป็นเช็คแทนการเข้าบัญชี ร้อยละ 30.5 ตามลำดับ ส่วนเรื่องความโปร่งใสในการจ่ายเช็คฯ มีผู้เห็นว่ามีความไม่เหมาะสมเพียงร้อยละ 5.1

14. ประชาชนร้อยละ 42.8 ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติให้ดีขึ้น ดังนี้ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ร้อยละ 6.8 แก้ไขปัญหาการว่างงาน สร้างอาชีพให้คนมีรายได้ ร้อยละ 6.2 แจกเช็คอย่างต่อเนื่องหรือเพิ่มจำนวนเงินที่แจก ร้อยละ 5.7 พิจารณาจ่ายค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 4.0 และส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็ก ร้อยละ 3.7

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ