รายงานผลการประชุม World Ocean Conference 2009

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 15:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุม World Ocean Conference 2009 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า ได้เข้าร่วมประชุม World Ocean Conference 2009 (WOC 2009) ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ เมือง มานาโด จังหวัดสุลาเวสีเหนือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 และสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1. การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วมประชุม 577 คน จาก 72 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 12 องค์กร ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทของมหาสมุทรในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเสนอให้เพิ่มความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะองค์กรภายใต้สหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลและการศึกษาน้อยและประเด็นเรื่องอนาคตของมหาสมุทรและชายฝั่ง

2. ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและรับรองร่างปฏิญญามานาโดว่าด้วยมหาสมุทร [Draft Manado Ocean Declaration(MOD)] ซึ่งมีเนื้อหาสาระประกอบด้วย

2.1 บทนำ เป็นการอ้างถึงเอกสารหลายฉบับรวมถึง the 1982 United Nations Convention on the Law of the Sea (UNCLOS), the United Nations Framework Convention on Climate Change and its Kyoto Protocol, the Convention on Biological Diversity (CBD) และ the Convention on the Prevention of Marine Pollution by Dumping of Wastes and Other Matter 1972 and its 1996 Protocol

2.2 เนื้อหา เป็นการกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมหาสมุทร รวมถึงแนวทางแก้ไข (การปรับตัวและลดผลกระทบ) เพื่อจัดการกับผลกระทบในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

2.3 ข้อเสนอแนะ ประกอบด้วยแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในรูปของโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ การวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีการสนับสนุนทางการเงิน และอื่นๆ

นอกจากนั้น ที่ประชุมมีมติให้นำประเด็นต่างๆ ที่พิจารณาในที่ประชุม World Ocean Conference 2009 เพื่อให้ประชุมภาคีประเทศสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC COP 15) รับทราบและพิจารณาถึงบทบาทของมหาสมุทรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในการพิจารณาโครงการการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในด้านการจัดการมหาสมุทรและชายฝั่ง

3. ในส่วนของการรับรองร่างปฏิญญา ฯ นั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้พิจารณาให้ความเห็นว่า สาระของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการบริหารจัดการมหาสมุทรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีนัยผูกพันรัฐบาลไทยในแง่นโยบายและการเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์การบริหาร และการใช้ทรัพยากรที่มีชีวิตทางทะเลอย่างยั่งยืน ดังนั้น ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจึงอาจพิจารณาเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (7) และร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวไม่มีการลงนาม จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. โดยที่การรับรองร่างปฏิญญาฯ ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ หากเกิดความล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นกรณีไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐบาล และเกิดสิทธิหน้าที่ต่างๆ เป็นพิเศษ ทส. จึงดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องการทำความตกลงกับต่างประเทศ การทำอนุสัญญา และสนธิสัญญาต่างๆ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2546 ซึ่งระบุให้ดำเนินการจัดทำความตกลงกับต่างประเทศดังกล่าวไปก่อนได้ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ