ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 6/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2009 14:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 6/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเสนอ

สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. ข้อเสนอมาตรการภาษี

1.1 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอมาตรการภาษีที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่วมหอการค้าต่างประเทศ (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand) ซึ่งเป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษีเงินได้และมาตรการที่ต้องการเพิ่มและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศในด้านการลงทุนจากต่างประเทศและการค้า ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้

1.1.1 กลุ่มที่ 1 มาตรการภาษีที่มีความสำคัญอย่างมาก มี 3 รายการ ได้แก่ (1) การลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายสินทรัพย์ที่เป็นทุน เหลือร้อยละ 10 สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2552-2553 (2) การยกเว้นภาษีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ครอบคลุมการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ และขยายเวลาจนถึง 31 ธันวาคม 2553 และ (3) การขยายเวลาการนำผลขาดทุนสะสมทางภาษีมาใช้ประโยชน์ เพื่อการคำนวณภาษีของกิจการได้นานขึ้นจาก 5 ปี เป็น 10 ปี สำหรับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2551-2553

1.1.2 กลุ่มที่ 2 มาตรการภาษีที่มีความสำคัญ มี 5 รายการ ได้แก่ (1) การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงเหลือร้อยละ 28 ในปี 2552 และเหลือร้อยละ 25 ในปี 2553 (2) การใช้ประโยชน์จากผลขาดทุนของบริษัทในเครือ ในการคำนวณภาษีของกิจการ อย่างมีเงื่อนไข สำหรับการคำนวณภาษีในปี 2552-2553 (3) การผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (4) การขยายช่วงเงินได้สำหรับการเสียภาษีของบุคคลธรรมดา เพื่อลดภาระภาษีของผู้มีรายได้น้อย และ (5) การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรายได้ประเภทเงินปันผล และดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ตามลำดับ สำหรับรายได้ปี 2552-2553

1.1.3 กลุ่มที่ 3 มาตรการที่มีความสำคัญเป็นการเฉพาะ มี 3 รายการ ได้แก่ (1) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ในปี 2552-2553 โดยเฉพาะธุรกิจด้านโรงแรม (2) การลดอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน จากร้อยละ 12.5 เหลือร้อยละ 7 ระหว่างปี 2552-2553 และ (3) การยกเว้นภาษีการให้สิทธิการซื้อหุ้นและการให้หุ้นสวัสดิการแก่พนักงาน

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ ประโยชน์ และผลกระทบตามข้อเสนอมาตรการภาษีของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน โดยในส่วนของมาตรการระยะสั้นและเป็นการชั่วคราวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการ กรอ. สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาและรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

2. ข้อเสนอเพื่อขอยกเลิกภาษีสรรพสามิตของเครื่องปรับอากาศชนิดขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู/ชั่วโมง

1.2 คณะกรรมการ กกร. เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู/ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เกิดความสะดวกทางการค้าและเป็นแรงจูงใจให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้อื่นๆ มากขึ้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

1. เห็นชอบให้ยกเลิกภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู/ชั่วโมง โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

2. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรับไปประสานกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศเพื่อปรับลดราคาขายปลีกเครื่องปรับอากาศลงตามที่ได้ยืนยันต่อคณะกรรมการ กรอ. เพื่อให้การยกเลิกภาษีสรรพสามิตครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง

3. ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง

3.1 คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง ประกอบด้วย 2 มาตรการที่สำคัญ คือ มาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และก่อให้เกิดการกระจายรายได้ และมาตรการระยะยาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ดังนี้

3.1.1 มาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และก่อให้เกิดการกระจายรายได้ ได้แก่ (1) เร่งผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างทุกขนาด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (2) ผลักดันโครงการที่มีแบบมาตรฐานแล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการประมูล (3) เสริมสร้างสภาพคล่องและลดต้นทุนค่าดำเนินการของผู้ประกอบการก่อสร้าง (4) เร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงนามในสัญญากับผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลโดยเร็ว และ (5) กำหนดให้ภาคเอกชนที่เป็นคนไทย เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐ และกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตภายในประเทศ

3.1.2 มาตรการระยะยาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ภายในระยะเวลา 2 ปี โดย (1) ขอให้มีพระราชบัญญัติการก่อสร้างหรือกฎหมายก่อสร้าง พร้อมจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทาง วิธีการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งกำกับ ทบทวน และสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยอย่างเป็นรูปธรรม (2) กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ จัดสรรงบประมาณอย่าง ต่อเนื่อง และวางแผนหาผู้ร่วมลงทุนในกรณีที่ต้องการ (3) มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินการก่อสร้างในต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการของประเทศไทย ทบทวนและ ปรับปรุงกฎหมายระหว่างประเทศ และ (4) มาตรการเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนหรือร่วมลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งทบทวนกระบวนการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการลงทุนได้รวดเร็วในเวลาที่เหมาะสม

มติคณะกรรมการ กรอ.

1. มอบหมายกระทรวงการคลัง ประสานกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อจัดทำรายละเอียดของข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนให้ชัดเจน และเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2. มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับไปพิจารณายกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพการก่อสร้าง และการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางการก่อสร้างในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และให้นำเสนอคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาต่อไป

3. มอบหมายสำนักงานผู้แทนการค้าไทย เป็นหน่วยงานส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปประมูล งานในต่างประเทศ โดยให้ศึกษาและแสวงหาลู่ทางการลงทุนการก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ และประสานงานกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันผลักดันโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศเป้าหมาย

4. การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน

4.1 คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณายุทธศาสตร์เร่งด่วนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน 2 ประเด็น คือ (1) จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เป็นกรรมการ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และ (2) จัดสรรงบประมาณจำนวน 103 ล้านบาท เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและแนวทางการพัฒนา Eco-Industrial Town ในประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปี 2553

มติคณะกรรมการ กรอ.

1. เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืนตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันเสนอ

2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับไปพิจารณาทบทวนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยผนวกรวมข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมมิติการพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชน และอาจปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดขึ้นใหม่

5. การจัดตั้ง One Stop One Start Investment Center (OSOS)

5.1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขอเลื่อนกำหนดเปิดดำเนินการของศูนย์ประสานการบริการนักลงทุนจากวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ไปเป็นวันที่ 4 มกราคม 2553 พร้อมศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากมีประเด็นที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการดังนี้

5.1.1 สำนักนิติธรรมได้พิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการนักลงทุน พ.ศ.... เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และมีความเห็นว่า โดยที่ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุน พ.ศ. 2525 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการให้อำนาจในการออกใบอนุญาตต่างๆ ภายใต้กฎหมาย 11 ฉบับ จึงเห็นว่าร่างระเบียบฯ อาจจะมีความซ้ำซ้อนกับระเบียบที่มีอยู่เดิม จึงเห็นควรให้ยกเลิกระเบียบทั้ง 2 ฉบับเสียก่อน แต่เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังคงมีศูนย์บริการเพื่อการลงทุนอยู่ จึงต้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ความเห็นกรณีจะยกเลิกระเบียบดังกล่าวก่อน ซึ่งอาจทำให้การออกระเบียบฯ ต้องล่าช้าออกไปและมีผลกระทบต่อการการทำสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศูนย์ประสานฯ

5.1.2 การจัดจ้างตกแต่งศูนย์ประสานการบริการนักลงทุนและการโยกย้ายศูนย์วีซ่าฯ ไปอยู่ที่เดียวกันนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดราคากลางก่อน แต่เนื่องจากงานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3,455 ตารางเมตรการกำหนดราคากลางจึงต้องใช้ระยะเวลา จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการและผังเมืองในการกำหนดราคากลางเป็นกรณีเร่งด่วน และจำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง

มติคณะกรรมการ กรอ.

1. ให้แก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการนักลงทุน มิให้ขอบเขตงานซ้ำซ้อนกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุน พ.ศ. 2525 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 โดยให้ภารกิจหลักของศูนย์ประสานฯ เป็นเรื่องการรับคำขอ ส่งต่อและประสานงาน และไม่ต้องยกเลิกระเบียบฯ ปี 2525 และฉบับแก้ไขปี 2545

2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เร่งพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการนักลงทุนให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามโดยเร็วที่สุด

3. ให้เลื่อนการเปิดศูนย์ประสานฯ ออกไปเป็นต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดราคากลางให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันหลังจากได้รับแบบจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และให้ใช้วิธีพิเศษในการจัดจ้างเพื่อให้ศูนย์ประสานสามารถเปิดให้บริการได้ทันตามกำหนด

6. ข้อสรุปความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย

6.1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อสรุปความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ตามมติคณะกรรมการ กรอ. ในคราวการประชุม ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ซึ่งได้มอบหมาย สศช. ประสานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการผลิตถุงมือยาง ผลการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

6.2.1 สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยรับทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์โครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ของ บสย. และ ธสน. และมาตรการความช่วยเหลือของรัฐด้านสภาพคล่องภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าว โดยจะนำรายละเอียดไปแจ้งแก่สมาชิกของสมาคมทราบ

6.2.2 มอบหมายให้ บสย. ประสานกับสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทยในการจัดส่งรายชื่อผู้ประสานงานโครงการฯ ของแต่ละธนาคารให้กับทางสมาคมฯ เพื่อที่ทางสมาคมฯ จะได้แจ้งสมาชิกต่อไป

มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงาน และเป้าหมายที่ชัดเจนของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาง แล้วนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

7. ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67

7.1 สศช. รายงานความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 12/2552 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 และข้อเสนอผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กรอ.ครั้งที่ 4/2552 โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

7.1.1 การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน

7.1.2 การร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการขององค์การอิสระ มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการขององค์การอิสระ ในการให้ความเห็นชอบต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง

7.1.3 การจัดตั้งองค์การอิสระ เพื่อให้ความเห็นประกอบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่จะร่วมอยู่ในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งพิจารณาแนวทางการได้มาซึ่งองค์การอิสระ

7.1.4 การประกาศว่าอุตสาหกรรมใดที่จะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดคำนิยามของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และมีมติเห็นชอบความก้าวหน้าร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ..... สำหรับบัญชีท้ายระเบียบให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความถูกต้อง

7.1.5 การเตรียมความพร้อมและรายงานความก้าวหน้าในการชี้แจงต่อศาลปกครอง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลักจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

มติคณะกรรมการ กรอ.

1. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาออกใบอนุญาตดำเนินการตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยให้นำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณา และให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ตามหลักการมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจทราบในการประชุมครั้งต่อไป

2. มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการบูรณาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ชัดเจน และให้เพิ่มองค์ประกอบขององค์การอิสระ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ โดยอาจแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัย และจากสถาบันหรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในโครงสร้างองค์ประกอบของ คณะผู้ชำนาญการฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ