คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง และแนวโน้มปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2552 และแนวโน้มปี 2552 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสสองหดตัวร้อยละ 4.9 ลดความรุนแรงลงกว่าที่หดตัวถึงร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก รวมครึ่งแรกหดตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมาก และปัญหาความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งการระบาดโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยที่การใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุนเอกชน และการส่งออกยังหดตัวต่อเนื่อง
หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสสองของปี 2552 โดยเปรียบเทียบกับในไตรมาสก่อนหน้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 (% QoQ) ซึ่งเป็นการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบที่หดตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 5.9 ในสองไตรมาสก่อนหน้า และชี้ว่าโดยภาพรวมนั้นเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงถดถอยรุนแรงที่สุดแล้ว โดยได้เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสสอง ได้แก่ การว่างงานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก การใช้กำลังการผลิต การลงทุนภาครัฐ และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ รวมทั้งการก่อสร้างภาคเอกชน
1.1 สัญญาณบวกในไตรมาสสองปี 2552
- การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสองเริ่มส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย จะเห็นได้จากการมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ โดยที่การส่งออกไปยังตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย เริ่มที่ดีขึ้น หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วมูลค่าและปริมาณการส่งออกในไตรมาสสองเริ่มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเล็กน้อยร้อยละ 1.4 และ 0.5 ตามลำดับ โดยที่ในเดือนมิถุนายนนั้นมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมร้อยละ 2.7 จากราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (ในไตรมาสสองเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสแรก)
- เครื่องชี้การใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส โดยที่ในเดือนมิถุนายนนั้นดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากเดือนก่อนหน้าและรวมทั้งไตรมาสสองดัชนีการใช้จ่ายครัวเรือนที่ปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.8 (% QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ถ้าไม่รวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาสินค้าที่ลดลงทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงเพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร และสินค้าคงทนประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วการใช้จ่ายยังหดตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก ชี้ว่าการใช้จ่ายครัวเรือนยังอยู่ในภาวะเปราะบางและต้องมีการผลักดันในเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องฐานรายได้รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน
- การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 5.9 และ 9.6 ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 และ -9.1 ตามลำดับในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 และงบประมาณเพิ่มเติม 116,700 ล้านบาท ส่งผลทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งที่เป็นงบประจำและงบลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงบการก่อสร้างภาครัฐที่เบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวมากในไตรมาสที่ผ่านมา
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากเริ่มได้รับผลจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 8.4 จากที่หดตัวร้อยละ 14.4 ในไตรมาสแรก โดยเฉพาะการผลิตหมวดอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกหดตัวเพียงร้อยละ 1.8 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.2 ในไตรมาสแรก โดยที่ปริมาณการผลิตในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากที่ลดลงร้อยละ 22.6 ในไตรมาสแรก และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 16.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 37.7 ในไตรมาสแรก
- ภาคการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นโดยที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.5 หลังที่หดตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2551 เป็นผลจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีความมั่นใจในทิศทางการปรับตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งมีแรงจูงใจด้านภาษี เครื่องชี้หลักๆ ที่สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การลงทุนในการก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และพื้นที่อนุญาตก่อสร้างโรงงานขยายตัวร้อยละ 51.9 ส่วนพื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลดลงร้อยละ 13.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 41.9 ในไตรมาสแรก
- การนำเข้าเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสสองปริมาณการนำเข้าหดตัวร้อยละ 27.5 จากที่หดตัวร้อยละ 35 ในไตรมาสแรก และเมื่อปรับปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้วพบว่าในเดือนมิถุนายนปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างชัดเจนร้อยละ 21.6 โดยที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ในเดือนมิถุนายน และทั้งไตรมาสสองเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2
- ความเชื่อมั่นเริ่มปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้นเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน (72.5) และต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม (73.4) หลังจากที่ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านั้น สำหรับภาคธุรกิจนั้นดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและในเดือนมิถุนายนนั้นเป็นระดับความเชื่อมั่นที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จึงคาดว่าภาคธุรกิจจะไม่ลดการจ้างงานและการลงทุนมากไปกว่าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
1.2 ปัจจัยลบในไตรมาสสอง ในช่วงไตรมาสสองนั้นยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชน และทำให้การผลิตยังคงหดตัวในหลายสาขา ได้แก่
- ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนที่พัทยา ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน
- ปัญหาการระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) 2009 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสสองนี้ยังคงลดลง ประกอบกับมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและความไม่สงบทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ ในไตรมาสสองภาคการโรงแรมและภัตตาคารจึงหดตัวร้อยละ 5.6 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก
- นอกจากนี้ราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด (ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง) ลดลง จึงทำให้รายได้เกษตรการลดลงและการใช้จ่ายครัวเรือนฟื้นตัวได้ช้า ในไตรมาสแรกนั้นภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 2.7
2. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องผลกระทบราคาน้ำมัน
2.1 เสถียรภาพในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องระมัดระวังผลกระทบราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 เท่ากับร้อยละ -2.8 เทียบกับร้อยละ -0.3 ในไตรมาสแรกเนื่องจากปัจจัย ดังนี้ (1) การขยายมาตรการ “5 มาตรการ 6 เดือน” ของรัฐบาล และการดำเนินมาตรการการศึกษาฟรี (2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว (3) ราคาสินค้าอาหารในหมวดข้าวและแป้งได้ลดลงมากจากฐานราคาที่เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ (4) ความต้องการสินค้าและบริการยังลดลง
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าจากเดือนก่อนหน้า (โดยที่ได้ปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว) พบว่าราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมัน เครื่องใช้ในครัวเรือน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ และผักผลไม้ นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบสำหรับผู้ผลิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- อัตราว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.1 เป็นผลจากภาวะการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น
1.3 เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง
- ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสสองเกินดุล 2,293 ล้านดอลลาร์ สรอ. (79,341 ล้านบาท) เป็นผลมาจากดุลการค้าเกินดุล 3,896 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 1,604 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงวันหยุดสงกรานต์ และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ A (H1N1) 2009 ทำให้รายได้สุทธิด้านการท่องเที่ยวและค่าโดยสารเดินทางของชาวต่างชาติลดลงมาก แต่รวมครึ่งแรกของปีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11,405 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับ 400,920 ล้านบาท
- เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 เท่ากับ 123.45 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (Net Forward Position อีก 11.37 พันล้านดอลลาร์) สูงกว่า 116.22 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 (Net Forward Position อีก 3.70 พันล้านดอลลาร์) คิดเป็นประมาณ 5.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและเท่ากับการนำเข้า 10.1 เดือน
- อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสสองเฉลี่ยเท่ากับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นกว่า 35.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก แต่ยังอ่อนค่ากว่า 32.20 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปี 2551 ถึงร้อยละ 7.4 สำหรับในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบันนั้นเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็น 33.99 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนกรกฎาคม และ 33.963 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงวันที่ 1-17 สิงหาคม ซึ่งเป็นการแข็งค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังและภาพรวมทั้งปี 2552
3.1 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังโดยที่มีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (% YOY) แม้ว่าในไตรมาสสามนั้นเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะหดตัว เนื่องจากผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกนั้นจะยังจำกัด และประกอบกับฐานการส่งออกในช่วงไตรมาสสามของปีที่แล้วนั้นสูง รวมทั้งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนจะยังช้า แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงไตรมาสต่อไตรมาสโดยหักลบปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้ว (% QoQ) มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสสอง โดยที่ GDP ณ ราคาคงที่ที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับต่ำสุดแล้วในไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนและเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวในครึ่งหลัง ดังนี้
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกและคาดว่าตลอดทั้งปี 2552 จะมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ (-1.8) — (-1.3) ซึ่งสูงกว่าคาดไว้เดิมว่าจะขยายตัวระหว่างร้อยละ (-2.0) — (-1.5) ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศญี่ปุ่นเองและในประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งการปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ NIEs ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำ
- การใช้จ่ายครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น แรงกระตุ้นของมาตรการรัฐบาล และรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลัง เนื่องจากการจ้างงานเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งผลตอบแทนของการออมที่มีแนวโน้มดีขึ้น
- การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือจากปีงบประมาณ 2552 และงบประมาณในปี 2553 ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้านกระเงินสดที่เริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่คล่องตัวมากขึ้น การดำเนินมาตรการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการขยายสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำ
- ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2552 ไม่เกิน 65 ดอลลาร์ สรอ. โดยที่ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยใน 7 เดือนแรกเท่ากับ 53.48 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล แต่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งหลังของปีตามการปรับตัวใน ทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในครึ่งหลังของปีเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้นและเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า จึงคาดว่าในครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณบาเรลละ 70-75 ดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ล่าสุดในช่วงวันที่ 1-17 สิงหาคมน้ำมันดิบดูไบมีราคาเฉลี่ยเท่ากับ 71.40 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยมีราคาสูงสุดเท่ากับ 72.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในวันที่ 6 สิงหาคม
- การพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป โดยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ซึ่งจะช่วยรักษารายได้ของเกษตรกรและการจ้างงานในภาคเกษตร
- มาตรการค้ำประกันสินเชื่อและการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและอัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจและปรับตัวในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยได้ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ยังมีฐานะการเงินดีสามารถใช้โอกาสในการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจเพื่อเตรียมรับเมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น
- สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจให้ดีขึ้นตามลำดับนอกจากนี้ฐานเศรษฐกิจที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายกลับมาขยายตัวเป็นบวก
3.2 การประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 คาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.5) — (-3.0) ซึ่งเป็นการปรับจากประมาณการเดิมในช่วงร้อยละ (-3.5) - (-2.5) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 เนื่องจากในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิมจากการส่งออกและการลงทุนที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนยังช้าอยู่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.0) — (-0.5) มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.คาดว่าจะลดลงร้อยละ 16.3 แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทโดยเฉลี่ยอ่อนลงกว่าในปี 2551 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท จึงลดลงร้อยละ 14.5 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 5.6 ของ GDP การประมาณเศรษฐกิจทั้งปีสรุปได้ ดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค (รวมภาครัฐและเอกชน) คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 0.7 โดยที่การใช้จ่ายครัวเรือนจะหดตัวเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นการปรับลดการประมาณลงการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากผลกระทบของการหดตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อฐานรายได้และการใช้จ่ายของประชาชน การลดลงของรายได้จากการเกษตรจากภาวะที่ราคาและปริมาณผลผลิตเกษตรลดลง รวมทั้งฐานรายได้ในภาคท่องเที่ยวและบริการลดลงจากการระบาดจากไข้หวัดใหญ่ 2009 รลดลงของฐานรายได้ดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรกลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามการหดตัวของฐานรายได้คาดว่าจะลดความรุนแรงลงในครึ่งปีหลังตามแนวโน้มการปรับตัวของภาคการผลิตและการส่งออกที่มีเสถียรภาพและมีแนวโน้มของการฟื้นตัวมากขึ้น รวมทั้งผลของการดำเนินมาตรการของภาครัฐซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี
- การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.4 ซึ่งเป็นการปรับลดจากร้อยละ 11.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา จากการปรับวงเงินลดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายบริโภคของภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2553 จาก 1.56 ล้านล้านบาทเป็น 1.44 ล้านล้านบาท
- การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 10.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2551 และเป็นการปรับลดจากการหดตัวร้อยละ 6.2 ในการประมาณการครั้งที่แล้ว โดยเป็นการปรับลดการลงทุนภาคเอกชนจากการหดตัวร้อยละ 9.7 เป็นการหดตัวร้อยละ 14.8 ซึ่งสะท้อนการหดตัวที่รุนแรงของการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีแรก ในขณะที่แนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนั้นคาดว่าจะยังอยู่ในภาวะหดตัวเนื่องเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง อุปสงค์ในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และความเชื่อมั่นของธุรกิจและนักลงทุนที่ยังอยู่ในระดับต่ำแม้จะมีการปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
- มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 16.3 ปรับลดจากการหดตัวร้อยละ 15.0 ในการประมาณการเดิม โดยเป็นการปรับลดปริมาณการส่งออกจากการหดตัวร้อยละ 11.0 เป็นการหดตัวร้อยละ 13.6 ในการประมาณการครั้งนี้ ตามสถานการณ์ล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี และเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของตลาดส่งออกสำคัญ ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังนั้นยังเป็นผลจากการที่การนำเข้าลดลงเร็วกว่าการส่งออก รวมทั้งการเป็นการปรับลดลงตามความซบเซาของภาคบริการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่ยังอ่อนค่ากว่าในปี 2551 ทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 14.3
- มูลค่าการนำเข้าสินค้าสินค้าหดตัวร้อยละ 24.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 26.4 ในปีที่ผ่านมาและการหดตัวร้อยละ 19.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามสถานการณ์ในครึ่งปีแรกที่การนำเข้าหดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการได้ปรับลดระดับสินค้าคงคลังลงมากกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งเป็นการปรับลดตามการปรับลดการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุน และการส่งออกซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการนำเข้าสินค้าลดลงมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมทั้งในด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ทั้งนี้เป็นการปรับลดปริมาณความต้องการสินค้านำเข้าจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 11.6 เป็นการหดตัวร้อยละ 20.3
- ดุลการค้าเกินดุล 14.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุลจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 14.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 5.6 ของ GDP เพิ่มขึ้นเนื่องจากการหดตัวของการนำเข้าเป็นสำคัญ
- อัตราเงินเฟ้ออยู่ระหว่างร้อยละ (-1.0) — (-0.5) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิมร้อยละ (-0.5) — (0.5) ตามสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ -2.0 และค่าเงินที่แข็งกว่าที่คาดไว้เดิมจะช่วยลดแรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดไว้เดิม
- อัตราการว่างงานอยู่ระหว่างร้อยละ 1.8 — 2.0 หรือประมาณ 0.7-0.8 ล้านคน
3.3 ปัจจัยเสี่ยงและประเด็นที่มีความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี มีดังนี้
- ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความผันผวน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง
- ภาวะการท่องเที่ยวและผลกระทบไข้หวัดใหญ่ 2009 การท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะหดตัวจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย และการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นรวมทั้งการใช้จ่ายของครัวเรือน
- การเมืองภายในประเทศยังไม่ราบรื่น ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งผู้ประกอบการและ นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในเวทีต่างๆ อีกหลายครั้ง
4. แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
การบริหารเศรษฐกิจเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี ควรให้ความสำคัญกับประเด็น ต่อไปนี้
4.1 การเตรียมการรองรับและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009
4.2 การเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2552 ให้เข้าเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณร้อยละ 94 และเตรียมการล่วงหน้าให้เร่งใช้จ่ายงบประมาณปี 2553 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณให้ได้อย่างต่อเนื่อง
4.3 การเร่งรัดการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้ลงทุนได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552
4.4 การเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการอิสระและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขาดสินเชื่อ
4.5 การประกันราคาสินค้าเกษตร ในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงลดลง
4.6 การดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม โดยไม่อ่อนค่าเกินไปในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และไม่แข็งค่าจนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการสาขาท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกกดดันให้สูงขึ้นเร็วกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2552 --จบ--