คณะรัฐมนตรีรับทราบการกำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ได้มอบหมายให้ ทอท. ติดตามตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมา โดยตลอด โดย ทอท. ได้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดและเพิ่มความเข้มข้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยได้มีการลงไปสำรวจพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งดูแลสอดส่องปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างทันท่วงที ผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
1. การดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
1.1 แท็กซี่และมัคคุเทศก์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
แท็กซี่และมัคคุเทศก์ดังกล่าวรู้จักกันในนามว่าเป็นแท็กซี่ป้ายดำและไกด์ผีที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้โดยสาร ความไม่เป็นระเบียบในอาคารผู้โดยสารและทำให้เกิดปัญหาการจราจรสะสมต่อเนื่องในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. จึงกำหนดมาตรการในทางปฏิบัติและสามารถดำเนินการคลี่คลายปัญหาให้ดีขึ้น เห็นผลได้อย่างชัดเจน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำและไกด์ผีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะ คือ
(1) ขั้นเตรียมการ เป็นการเตรียมกำลังให้พร้อม รวมถึงการจัดทำป้ายเตือนการกระทำ
(2) ขั้นปฏิบัติการระยะที่ 1 จัดทำประวัติผู้กระทำความผิดและการเตือน
(3) ขั้นปฏิบัติการระยะที่ 2 จับกุมแจ้งความดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา ควบคุมการเข้าพื้นที่
(4) ขั้นประเมินผลทุก 15 วัน
พร้อมทั้งได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจตราจับกุมกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำและไกด์ผีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างจริงจัง ทำให้สามารถจับกุมแท็กซี่ป้ายดำและไกด์ผีเป็นจำนวนมาก ดังนี้
การดำเนินการ ผลที่เกิดขึ้น จับกุมกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ถึง ทำให้จำนวนเที่ยวรถเพิ่มขึ้น คือ ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 395 ราย - รถแท็กซี่เพิ่มขึ้นจากวันละ 7,000 เที่ยว ในเดือนกรกฎาคม
2552 เป็นวันละ 8,000 เที่ยวในเดือนสิงหาคม 2552
- รถลีมูซีน (Limousine)เพิ่มขึ้นจากวันละ 700 เที่ยว ใน
เดือนกรกฎาคม 2552 เป็นวันละ 800 - 1,000 เที่ยว ในเดือน
สิงหาคม 2552
จับกุมไกด์ผี ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2552 ถึงปัจจุบัน รวม ยอดการให้บริการของเคาน์เตอร์ทัวร์ที่ได้รับอนุญาต เฉลี่ย ทั้งสิ้น 210 ราย เพิ่มขึ้น จากวันละ 46,869 บาท เป็นวันละ 53,485 บาท
1.2 การลักทรัพย์สินจากกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสาร
สภาพพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทำให้มีจุดเสี่ยงหลายจุดบริเวณพื้นที่ที่มีการคัดแยกสัมภาระของผู้โดยสาร (Sorting Area) ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการลักทรัพย์สินจากกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารในระหว่างการลำเลียงทั้งขาเข้าและขาออก โดยผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมีการทำงานเป็นทีมและปรับเปลี่ยนรูปแบบในการกระทำผิดเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการจับกุมมาโดยตลอด ซึ่ง ทอท. ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ Sorting Area ที่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ดังนี้
(1) กำหนดให้เป็นพื้นที่หวงห้ามเพื่อการรักษาความปลอดภัย โดยทุกคนต้องติดบัตรรักษาความปลอดภัย ต้องตรวจค้นร่างกายและสัมภาระติดตัว
(2) กำหนดให้เข้าออกพื้นที่ได้ 3 ช่องทางเท่านั้น คือ ช่องทางจากลานจอดอากาศยานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ช่องทางจากลิฟต์บริการภายในอาคารผู้โดยสาร และช่องทางจากอาคารผู้โดยสารชั้น 1
(3) ควบคุมผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจตระเวนตรวจตราพื้นที่
(4) เพิ่มแสงไฟส่องสว่าง
(5) ให้บริษัทที่เข้ามารับดำเนินการ (Outsource) จัดทำระเบียบการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้ติดตั้งกล้อง CCTV ในบริเวณจุดเสี่ยง 20 กล้อง และจะติดตั้งเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็วอีก 327 กล้อง พร้อมทั้ง ทอท. ยังพิจารณากำหนดให้มีมาตรการเพิ่มเติม คือ
(1) กำหนดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและสายการบิน กรณีมีการกระทำความผิด เช่น ห้ามเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ระยะหนึ่ง หรือเพิ่มเงื่อนไขการต่อสัญญาครั้งต่อไป
(2) วางแนวทางให้สายการบินและผู้ประกอบการปฏิบัติ โดย
- ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีกระเป๋า และแสดงสัญลักษณ์ของต้นสังกัดชัดเจน
- ห้ามผู้ปฏิบัติงานนำทรัพย์สินมีค่าติดตัวเข้าพื้นที่เด็ดขาด ยกเว้นของใช้จำเป็น
- สายการบินและผู้ประกอบการต้องจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานในพื้นที่ Sorting Area และจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจค้นร่างกายพนักงานลำเลียงกระเป๋าหลังจากเสร็จภารกิจเรียบร้อยแล้ว
1.3 มาตรการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว ดังนี้
(1) จัดให้มีสื่อวีดีทัศน์แนะนำผู้โดยสาร เพื่อให้ทราบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการเดินทางออกจากท่าอากาศยาน ว่ามีรถบริการใดบ้าง ติดต่อได้ที่ไหน อย่างไร รวมทั้งวิธีการติดต่อมัคคุเทศก์ และการเตือนผู้โดยสารให้ระวังทรัพย์สิน
(2) เข้มงวดการออกบัตรอนุญาตการเข้า-ออก ในเขตพื้นที่ต่างๆของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยแสดงเขตพื้นที่ที่บุคคลหรือบริษัทต่างๆ สามารถผ่านเข้า-ออกได้อย่างชัดเจน
(3) ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นในการคัดเลือกบริษัท Outsource ที่เข้ามาให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยการทำสัญญาต้องระบุมาตรการลงโทษ เช่น การขึ้นบัญชีไม่มีสิทธิรับงานจาก ทอท. การยกเลิกสัญญากรณีที่การการดำเนินการของบริษัท Outsource ก่อให้เกิดความเสียต่อภาพลักษณ์ของ ทอท. เป็นต้น
(4) ปรับปรุงการบริการรถลีมูซีน (Limousine) เพื่อแข่งขันกับแท็กซี่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรมและมีความเหมาะสมดึงดูดให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์การใช้บริการ Limousine ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผู้โดยสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
2. การดำเนินการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด
ทอท. ได้รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ดังนี้
2.1 การตรวจค้นตามพิธีการศุลกากร
กระทรวงการคลังได้มีนโยบายกำชับให้กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ร่วมมือกันปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด และได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้โดยสารที่นำของหรือซื้อสินค้า (เหล้า บุหรี่) ติดตัวเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่น ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซด์ ขอความร่วมมือจากสายการบินแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ทำป้ายเตือนภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และตั้งกล่องบริเวณหน้าเคาน์เตอร์เพิ่มเติมเพื่อทิ้งสินค้าเกินกฎหมายกำหนด กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส รวมทั้งการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่ม เป็นต้น
2.2 การรับตัวและการสอบสวนผู้ต้องหา
สถานีตำรวจภูธรราชาเทวะ ได้แก้ไขปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกรณีผู้ต้องหาลักสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีเป็นชาวต่างชาติ เพื่อป้องกันการกล่าวหาว่า มีการข่มขู่และกลั่นแกล้ง
2.3 การลักสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษี
ทอท. ได้กำชับให้ บริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการปฏิบัติงานของพนักงานกรณีเกิดการลักสินค้า ให้มีกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนและโปร่งใสยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดทำป้ายแจ้งผู้โดยสารเกี่ยวกับการชำระเงินค่าสินค้า และป้ายเตือนผู้โดยสารให้ชำระเงินค่าสินค้าก่อนออกจากร้านค้า ตลอดจนการตีเส้นเพื่อแสดงพื้นที่บริเวณร้านค้าให้ชัดเจน ซึ่งบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และ ทอท. จะได้ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2552 --จบ--