คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าเนื่องจากพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มีบางมาตราไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของวิชาชีพในการบริการด้านสาธารณสุขในระดับสากล ประกอบกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีความเห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 80 (2) แห่งรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและ มีประสิทธิภาพ โดยที่การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตจะเป็นแนวทางให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมได้ จึงเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายวิชาชีพให้มีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้คณะกรรมการทันตแพทยสภามีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อบังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การกำหนดอายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต แบบและประเภทใบอนุญาต (ร่างมาตรา 2 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 (4) (ฌ))
2. กำหนดให้อายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับทันตแพทยสภา (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 31)
3. กำหนดให้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ยังมีผลอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีอายุต่อไปนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 4)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--