รายงานผลการดำเนินโครงการทดลองศึกษาปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทาน ตอนดินแดง-ดอนเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 11:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินโครงการทดลองศึกษาปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทานตอนดินแดง-ดอนเมือง และการจ่ายเงินชดเชยจากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จำนวน 30,603,845 บาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ตามที่กรมทางหลวงเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กรมทางหลวงได้รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เกี่ยวกับสรุปผลการทดลองศึกษาปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทาน ตอน ดินแดง-ดอนเมือง ดังนี้

1. ในช่วงระยะเวลาการทดลองปรับค่าผ่านทาง 90 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2548) บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้จัดเก็บค่าผ่านทางในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจัดเก็บค่าผ่านทางในอัตรา 20 บาทต่อคันตลอดสายสำหรับรถ 4 ล้อ และในอัตราไม่เกิน 50 บาทต่อคันตลอดสายสำหรับรถที่มีขนาดเกิน 4 ล้อ ผลจากการดำเนินการดังกล่าวภาครัฐจะต้องชดเชยให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เป็นเงินทั้งสิ้น 30,603,845 บาท (สามสิบล้านหกแสนสามพันแปดร้อยสี่สิบห้าบาทถ้วน)

2. กรมทางหลวงได้คำนวณผลประหยัดและประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการทดลองศึกษาปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทาน ตอน ดินแดง — ดอนเมือง สรุปได้ว่าในช่วงทดลอง 90 วัน มีรถยนต์เปลี่ยนมาใช้ทางยกระดับมากขึ้น 37,081 คันต่อวัน (เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 70,000 คันต่อวัน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จึงมีรายได้ลดลงกว่าเดิม) และความเร็วเฉลี่ยบนถนนวิภาวดีรังสิตเพิ่มขึ้นเป็น 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มูลค่าผลประหยัดที่ได้จากโครงการประมาณ 134,778,565 บาท โดยแบ่งเป็น

รายการ                                            บนถนนวิภาวดี       บนทางยกระดับ        รวมผลประหยัด

รังสิต ดินแดง-ดอนเมือง

ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ(Vehicle Operating      32,167,613 บาท     31,824,882 บาท    63,992,495 บาท
Cost) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ยางรถ อะไหล่
และค่าซ่อมบำรุง
ประหยัดเวลาในการเดินทาง (Vehicle Operating       38,521,726 บาท     32,264,344 บาท    70,786,070 บาท
Time) ค่าเสียเวลาคิดจากรายได้เฉลี่ยของผู้ใช้รถแยก
ตามประเภทของยานพาหนะ

3. หลังการทดลองปรับค่าผ่านทาง 90 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2547 — วันที่ 21 มีนาคม 2548) กรมทางหลวงได้ตรวจสอบค่าผ่านทาง พบว่า มีรายได้ 258,745,192 บาท หรือเฉลี่ย 2.87 ล้านบาทต่อวัน เท่ากับรายได้ลดลงรวม 297,000,000 บาท — 258,745,192 บาท = 38,254,808 บาท ซึ่งรัฐต้องจ่ายชดเชยในวงเงิน 30,603,845 บาท (ร้อยละ 80 ของส่วนต่าง)

4. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือ ที่ DMT/8546/05 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 เห็นชอบวงเงินชดเชยค่าผ่านทางจำนวนดังกล่าว

5. กรมทางหลวงได้มีหนังสือที่ คค 0637/บ./4367 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ขอให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการในส่วนที่รัฐต้องชดเชยค่าผ่านทางจำนวน 30,603,845 บาท (สามสิบล้านหกแสนสามพันแปดร้อยสี่สิบห้าบาทถ้วน) ให้กับ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)

6. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีมติที่ประชุมเมื่อ วันที่ 10 มีนาคม 2549 อนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานงานส่งเสริมและสาธิต ปีงบประมาณ 2549 ในวงเงิน 30,603,845 บาท ให้แก่กรมทางหลวงเพื่อนำไปจ่ายเป็นเงินชดเชยค่าผ่านทางในส่วนต่างให้แก่บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2547-วันที่ 21 มีนาคม 2548 รวมเวลา 90 วัน) โดยให้กรมทางหลวงคำนวณผลประหยัดและประเมินความคุ้มค่าของโครงการที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าวส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ด้วย และดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินและการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537

7. กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการคำนวณผลประหยัดและประเมินความคุ้มค่าของนโยบายลดค่าผ่านทางทางหลวงสัมปทาน ตอน ดินแดง-ดอนเมือง และจัดส่งรายงานดังกล่าวพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานด้านการเงินเกี่ยวกับรายได้ค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทาน ตอน ดินแดง-ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2547 — วันที่ 21 มีนาคม 2548 และเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และแจ้งความประสงค์ขอเบิกจ่ายเงินเพื่อชดเชยค่าผ่านทางในส่วนต่างให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547

8. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 อนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในวงเงิน 30,603,845 บาท และให้กรมทางหลวงเบิกจ่ายเงินดังกล่าวต่อไป

9. กรมทางหลวงได้ดำเนินการส่งร่างบันทึกข้อตกลงการดำเนินโครงการทดลองศึกษาปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางบนทางหลวงสัมปทาน ตอน ดินแดง-ดอนเมือง ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจแก้ไขแล้ว และจะลงนามในร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งเบิกจ่ายเงินให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ