ขออนุมัติปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างตัวอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 11:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างตัวอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิม 4,082,937,000 บาท เป็น 4,111,457,547.23 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 จำนวน 28,520,547,.23 บาท

2. เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินจำนวน 4,754,790,149.84 บาท เพื่อจ่ายคืนค่าก่อสร้างอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวมดอกเบี้ยจ่ายคืนให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) โดยมีกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกันและรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต ทั้งนี้ ให้ กค. และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณารายละเอียด วิธีการและเงื่อนไขการกู้เงิน รวมทั้งให้ สงป. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวต่อไป

3. ให้ รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่อาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งบริเวณพื้นที่ที่ใช้ในการเดินรถไฟและพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์เป็นการทั่วไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า

1. คค. ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ประกอบด้วย กค. [สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] สงป. สศช. ทอท. และ รฟท. เพื่อหารือการเรียกคืนเงินลงทุนก่อสร้างอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟใต้อาคารฯ จนได้ข้อยุติเห็นชอบร่วมกันว่า วงเงินค่าก่อสร้างที่ รฟท. จะชำระคืนให้ ทอท. เป็นเงิน 3,842,483,689 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จำนวน 268,973,858.23 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,111,457,547.23 บาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินค่าก่อสร้างที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 จำนวน 28,520,547.23 บาท สำหรับค่าดอกเบี้ยของวงเงินค่าก่อสร้างที่ต้องจ่ายคืนให้ ทอท. นั้น สบน. เสนอให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 3.66 ต่อปี ซึ่ง รฟท. ได้ประมาณการค่าดอกเบี้ยจ่ายจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 643,332,602.61 บาท โดยสรุปวงเงินค่าก่อสร้างรวมดอกเบี้ยจ่าย ดังนี้

รายการ                                                วงเงินที่ ทอท. เรียกคืนจาก รฟท. (บาท)
1. ค่าก่อสร้างอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ                                     3,842,483,689.00
2. ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7                                                    268,973,858.23
   รวมค่าก่อสร้าง (1+2)                                                  4,111,457,547.23
3. ค่าดอกเบี้ยของค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม                                     643,332,602.61
(อัตราร้อยละ 3.66 ต่อปี คำนวณถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2552)
   รวมทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552)                                     4,754,790,149.84

2. ในการประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างตัวอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ จากเดิม 4,082,937,000 บาท เป็น 4,111,457,547.23 บาท และขออนุมัติกู้เงินจำนวน 4,754,790,149.84 บาท โดยมี กค. เป็นผู้ค้ำประกัน และรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ โดยให้ กค. และ สงป. เป็นผู้พิจารณารายละเอียด วิธีการ และเงื่อนไขการกู้เงิน

3. คค. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ประกอบด้วย สงป. สบน. สคร. สศช. ทอท. และ รฟท. เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายงานค่าก่อสร้างและการบริหารอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและการบริหารพื้นที่อาคารสถานีเชิงพาณิชย์ใต้อาคารผู้โดยสารฯ ที่ สบน. มีข้อสังเกตว่า อาจพิจารณาแนวทางการเจรจาให้ ทอท. นำดอกเบี้ยจ่ายที่จะเรียกเก็บ รฟท. มาแลกเปลี่ยนเป็นสิทธิหรือค่าธรรมเนียมในการขอเข้าใช้พื้นที่เพื่อบริหารอาคารสถานีรถไฟเชิงพาณิชย์ เนื่องจากขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกเป็นหน่วยธุรกิจ การเดินรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link : ARL) มารับผิดชอบโดยตรง ดังนั้น เพื่อให้มีรายได้กับบริษัทดังกล่าวจึงควรเปิดโอกาสให้บริษัทลูกที่ รฟท. จะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้คัดเลือกผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ แบบเปิดกว้างเป็นการทั่วไปในเชิงธุรกิจ ซึ่งหาก ทอท. มีความสนใจที่จะบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารสถานีใต้อาคารผู้โดยสารฯ ก็สามารถเจรจากับ รฟท. ได้โดยอยู่บนพื้นฐานเดียวกับผู้สนใจรายอื่น ๆ ที่ประชุมจึงเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและเห็นชอบตามข้อ 1 และ 2 โดยให้บริษัทลูก (หน่วยธุรกิจการเดินรถ ARL) ที่ รฟท. จะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่ของอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ ทั้งบริเวณพื้นที่ที่ใช้ในการเดินรถไฟและพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารสถานีใต้อาคารผู้โดยสารฯ ในเชิงพาณิชย์เป็นการทั่วไป แต่โดยที่ คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท. ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในทันทีเพราะการคัดค้านของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมติของการประชุมร่วมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยให้ รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่ของอาคารสถานีและอุโมงค์รถไฟฯ แทนบริษัทลูก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ