ผลการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับธนาคารโลกภายใต้แผนไทยเข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 13:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับธนาคารโลกภายใต้แผนไทยเข้มแข็งและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า กระทรวงการคลังและธนาคารโลกได้ร่วมกันจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับธนาคารโลกภายใต้หัวข้อเรื่อง “แผนไทยเข้มแข็ง” (Meeting between Thailand and World Bank on Collaboration for a Stronger Thailand) ในระหว่างวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2552 ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความเห็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ เพื่อการบูรณาการและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก (Country Partnership Strategy) ในระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 — มิถุนายน 2554 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของธนาคารโลกในประเทศไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของแผนไทยเข้มแข็งของรัฐบาล โดยการประชุมมีสาระสำคัญ 4 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

1. ด้านการระดมทุนสำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 (SP2) หรือแผนไทยเข้มแข็ง รวมถึงการกำกับ ตรวจสอบ และรายงานผลงานในโครงการ SP2 ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ

1.1 การกำกับ ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินโครงการ SP 2

1.1.1 ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่าย ซึ่งเกิดจากกระบวนการการจัดหาพัสดุตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (E-auction) ซึ่งกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารโลกจะพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในการจัดหาพัสดุดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป

1.1.2 ที่ประชุมเสนอให้มีการกำหนดดัชนีชี้วัดที่จะนำมาใช้ประเมินโครงการนำร่องภายใต้ SP2 ที่เป็นมาตรฐาน โดยกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดดัชนีดังกล่าว โดยธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อให้สามารถกำหนดตัวดัชนี ชี้วัดให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมกราคม 2553

1.1.3 ที่ประชุมขอให้ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกให้ข้อแนะนำในระบบการกำกับดูแลโครงการ SP2 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเร่งรัดการดำเนินโครงการโดยเร็วต่อไป

1.2 แนวทางการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

1.2.1 กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในคณะกรรมการพิจารณาแนวทางเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) จะร่วมกันพิจารณาทบทวนกฎหมายร่วมทุน (Joint Venture Act) และออกกฎระเบียบและแนวทางสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยจะจัดตั้ง PPP Unit เพื่อรับผิดชอบดูแลและขับเคลื่อนด้านการร่วมลงทุน ซึ่งธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานดังกล่าว

1.2.2 กองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund: CTF)

สศช. ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) จัดทำแผนการลงทุนเพื่อขอรับการส่งเสริมจากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund หรือ CTF) ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับโครงการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโอกาสต่อไป โดย สศช. และ กค.ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดเลือกโครงการที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน CTF และมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ

1.2.3 กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ธนาคารโลกและ International Finance Corporation (IFC) จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในการออกแบบการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการระดมทุนเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไทย

2. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการคลังและการให้ความสนับสนุนด้านพืชผลทางการเกษตร ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ

2.1 การเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกร

2.1.1 ที่ประชุมรับทราบปัญหาต่างๆ จากการรับจำนำสินค้าเกษตรและกลไกการรับประกันราคาที่กำลังดำเนินการเพื่อทดแทนการรับจำนำว่ายังต้องมีการประเมินผลการกำหนดราคารับประกันที่เหมาะสม ดังนั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า 1) การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน ควรใช้รูปแบบการสนับสนุนรายได้ (Income Support) และ 2) จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดนโยบาย ซึ่งที่ประชุมเสนอให้ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนากลไกเพื่อใช้กำหนดราคาประกันและรูปแบบการสนับสนุนรายได้ที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาระบบการจดทะเบียนเกษตรกร

2.1.2 สำหรับการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ประชุมเสนอให้ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนากลไกการซื้อขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะครอบคลุมการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า การพัฒนาการใช้กลไกราคาในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเป็นราคาสินค้าเกษตรอ้างอิง และการศึกษาถึงความเหมาะสมในการควบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าที่มีอยู่ 2 ตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยและบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิด Synergy ในด้านความมั่นคงทางการเงินและประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการกำกับดูแลต่อไป

2.2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาล

ที่ประชุมเสนอให้ธนาคารโลกพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงด้านการคลังในระยะสั้นและระยะยาวอย่างครบวงจร 2) การพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านการคลังที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจและภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3) การพัฒนาการประเมินและติดตามความเสี่ยงจากโครงการ PPP และ 4) การพัฒนาแบบจำลองบริหารหนี้สาธารณะ

3. การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกร ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ

3.1 การขยายผลการดำเนินการประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศ

3.1.1 ที่ประชุมรับทราบความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัย ในการขยายโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเภทภัยแล้งไปสู่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในการผลิตข้าวโพดมากกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ)

3.1.2 ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการและประเมินผลโครงการประกันภัยข้าว ประเภทภัยแล้งของ ธ.ก.ส. โดยใช้รูปแบบของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC)

3.1.3 ที่ประชุมรับทราบความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัย ในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายโครงการประกันภัยข้าว ควบคู่ไปกับโครงการรับประกันราคา

3.1.4 ที่ประชุมรับทราบการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายการติดตั้งสถานีวัดน้ำฝนให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการออกแบบกรมธรรม์ และให้ข้อแนะนำในการออกแบบกรมธรรม์ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่

3.2 การพัฒนารูปแบบการประกันภัยพืชผลอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ดัชนีภูมิอากาศ และการจัดการความเสี่ยง สำหรับพืชประเภทต่างๆ ในแต่ละพื้นที่

3.2.1 ที่ประชุมรับทราบการวิจัยและพัฒนาแนวทางการศึกษาแนวทางการประกันภัย สำหรับข้าว และการสร้างระบบการประกันความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม โดยระบบสหกรณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3.2.2 ที่ประชุมรับทราบการดำเนินโครงการนำร่องการประกันภัยผลผลิตของเขตพื้นที่ (Area-Yield) ของกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ธนาคารโลกอาจให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว

3.3 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาการประกันภัยพืชผล

ในการพัฒนาการประกันภัยพืชผลให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และการกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อสนับสนุนการประกันภัยพืชผลและกรอบการดำเนินการเชิงปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งธนาคารโลกอาจให้ความช่วยเหลือถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ประสบความสำเร็จ

4. การเพิ่มความเข้มแข็งในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ

4.1 การทบทวนบทบาทและการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

4.1.1 ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อทบทวนบทบาทและการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ 1) ความชัดเจนในการกำกับดูแลและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับ 2) การประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพ และ3) การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

4.1.2 ที่ประชุมได้เสนอขอให้ธนาคารโลกพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการศึกษาและทบทวนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปัจจุบันและอนาคต

4.2 การประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นร่วมกันว่าการจัดทำการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) ที่ สคร. กำลังดำเนินการอยู่นั้น จะทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ภาครัฐสามารถประมาณการภาระทางการคลังได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยธนาคารโลกเสนอให้จัดทำการวิเคราะห์ประมาณการผลดีและผลเสีย (cost-benefit analysis) สำหรับการดำเนินงานโครงการนโยบายภาครัฐก่อนที่จะมีการนำไปปฏิบัติจริง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นการลดภาระทางการคลังของภาครัฐในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอให้ สคร.ปรับเปลี่ยนน้ำหนักตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินผลให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้น ซึ่ง สคร.ได้รับไปพิจารณา

4.3 การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ที่ประชุมเห็นว่ามีแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานกำกับและสถาบันการเงินเฉพาะกิจเอง คือ การจัดตั้งชมรมบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลระหว่างกัน รวมไปถึงการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง การใช้ระบบ IT ที่เชื่อมต่อกัน โดยขอธนาคารโลกพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง

4.4 การขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับด้านการเงินระดับฐานรากที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในเรื่องของเสริมสร้างศักยภาพในเรื่องการบริหารความเสี่ยง วิธีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการคิดดอกเบี้ย และการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรเงินทุนได้เพียงพอ

5. การดำเนินการต่อไป

5.1 กค. และธนาคารโลกร่วมพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลโครงการ SP2 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเร่งรัดการดำเนินโครงการโดยเร็วต่อไป

5.2 กค. และ สศช. เป็นหน่วยงานกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจัดทำแผนการลงทุนเพื่อขอรับการส่งเสริมจากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด (CTF) ของธนาคารโลก

5.3 การขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารโลกให้แก่ กค. ดังนี้

5.3.1 การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ PPP Unit

5.3.2 การออกแบบการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม

5.3.3 การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงทางการคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5.3.4 การให้ข้อแนะนำในการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ และการดำเนินโครงการนำร่องการประกันภัยผลผลิตของเขตพื้นที่ (Area-Yield)

5.3.5 การศึกษาและทบทวนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปัจจุบันและอนาคตการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งเรื่องของเสริมสร้างศักยภาพในเรื่องการบริหารความเสี่ยงวิธีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยตามหลักศาสนาอิสลาม

5.3 การขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารโลกให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมการเกษตร) และกระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ในการจัดทำระบบการจดทะเบียนเกษตรกรและจดทะเบียนที่ดิน (Registry of farmers and land cadastre) และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการศึกษาถึงรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนรายได้ให้ภาคการเกษตรที่เหมาะสมในระยะยาว และแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบดังกล่าว

5.5 การขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับการประกันภัยพืชผล ดังนี้

5.5.1 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายติดตั้งสถานีวัดน้ำฝน

5.5.2 การสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล

5.5.3 การสนับสนุนงบประมาณในโครงการนำร่องการประกันภัยผลผลิตของเขตพื้นที่ (Area-Yield)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ