มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 (ครั้งที่ 127)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 13:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2552 (ครั้งที่ 127) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 รวม 4 เรื่อง ดังนี้

1. การทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

2. แนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration

3. การปรับสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ

4. นโยบายการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ร่างกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงานเสนอว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 5/2552 (ครั้งที่ 127) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

1. การทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

1.1 หลักเกณฑ์การคำนวณราคาขายปลีก NGV ในปัจจุบันเป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 และตามความเห็นชอบในหลักเกณฑ์การกำหนดราคา NGV ในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกอบด้วยต้นทุนสถานีแม่ต้นทุนสถานีลูก ค่าขนส่ง และค่าการตลาด

1.2 ปัจจุบันโครงสร้างราคา NGV กำกับดูแลโดย กพช. ขณะที่เชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ชนิดอื่นๆ เช่น น้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซล มีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็น เอกภาพในการกำกับดูแลราคาเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งและให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาอย่างเป็นธรรม การกำกับดูแลราคาก๊าซ NGV ควรอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูลของ กบง. เช่นเดียวกันกับเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งชนิดอื่น ๆ

1.3 มติที่ประชุม

1.3.1 เห็นชอบให้มีการปรับสูตรการคำนวณและแนวทางการกำกับดูแลราคา NGV ดังนี้

(1) ให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ มีสูตรดังนี้ P = [(WHPool 2) * (1+0.0175)] + TdZone 1+3 + Tc โดยสูตรต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาตินี้ถูกกำกับดูแลโดย กพช. เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้า

(2) สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนสถานีแม่ ต้นทุนสถานีลูกค่าขนส่ง และค่าการตลาดให้ไปอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดย กบง. จะเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาขายปลีก NGV ต่อไป

1.3.2 เห็นชอบให้ปรับปรุงคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์” (NGV)” เพื่อให้ราคาขายปลีก NGV ถูกกำกับดูแลภายใต้กรอบเดียวกันกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ กบง. มีอำนาจในการกำกับดูแล NGV

2. แนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration

มติที่ประชุม

2.1 เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการกำหนดเป้าหมายและรูปแบบการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ดังนี้

2.1.1 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม อาคาร/สถานประกอบการต่างๆ ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าและความร้อนหรือความเย็นเพื่อใช้ในกิจการและเหลือขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า อันจะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาไฟฟ้า จึงเห็นควร ดังนี้

(1) กำหนดเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจาก SPP ระบบ Cogeneration ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ สำหรับการจัดหาไฟฟ้าช่วงปี 2558 - 2564 ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ สำหรับระยะยาวให้กำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบ Cogeneration เป็นร้อยละของความต้องการพลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่

(2) ผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration ขนาดเล็กที่มีการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำหรือความเย็น ณ จุดใช้งาน เห็นควรให้รับซื้อไฟฟ้าโดยไม่กำหนดระยะเวลาและปริมาณ

2.1.2 เพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมายในข้อ 2.1 ให้คณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน (กบง.) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า คำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

(2) หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้าให้มีการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามความพร้อมของผู้ผลิตไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด

(3) ให้มีการประกาศจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ปริมาณพลังไฟฟ้าที่สามารถรับได้ในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้ง ประกาศแผนผังระบบส่ง/ระบบจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน

(4) กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งเอกสารการยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้า และจัดทำคู่มือในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า

2.2.3 ให้กระทรวงพลังงานรับไปเจรจากับ ปตท. เพื่อปรับลดค่าดำเนินการ (Margin) ในโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในต่างประเทศที่มีการให้ราคาพิเศษ (Favorable Natural Gas Price) สำหรับการซื้อก๊าซโดยผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งจะส่งผลให้ราคารับซื้อไฟฟ้าลดลง และเป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ในที่สุด

3. การปรับสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะ

3.1 การปรับเพิ่มสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะของเทศบาลคณะอนุกรรมการกำกับดูลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ภายใต้ กบง. ได้มีมติ เรื่องการปรับสิทธิไฟฟ้าสาธารณะ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เห็นชอบ

3.1.1 การปรับฐานการคำนวณสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะเป็นร้อยละ 10 ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยรวมกับหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กทุกราย รายละ 250 หน่วย

3.1.2 เห็นชอบการปรับคำนิยามของการใช้ไฟฟ้าสาธารณะอื่น ๆ (ส่วนควบ) สำหรับเทศบาลที่มีข้อตกลงในการรับโอนกิจการ 66 แห่ง เป็น “กระแสไฟฟ้าที่ กฟภ. ได้จ่ายให้ภายในอาคารของเทศบาลเพื่อใช้ในกิจการของเทศบาล หรือเพื่อสาธารณะตลอดจนภายในบริเวณที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเทศบาล (ไม่รวมบ้านพัก) สถานีอนามัย โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง โรงเรียนเทศบาล ไฟฟ้า แสงสว่างภายในสวนสาธารณะ และส้วมสาธารณะเท่านั้น”

3.2 การสนับสนุนการขยายหลักเกณฑ์การใช้ไฟฟ้าสาธารณะที่ใช้เกินสิทธิจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 เป็นกรณีพิเศษสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จนกว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะเข้าภาวะปกติ จะทำให้รายได้ของ กฟภ. ลดลงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 16 ล้านบาท / ปี

3.3 มติที่ประชุม

3.1.1 เห็นชอบให้ปรับสิทธิไฟฟ้าสาธารณะและคำนิยามการใช้ไฟฟ้าสาธารณะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการให้ความเห็นชอบตามข้อ 3.1

3.1.2 มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พิจารณาให้ความช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสาธารณะให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามความจำเป็นและความเหมาะสมโดยตรงต่อไป

4. นโยบายการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ร่างกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .....

4.1 โดยที่กฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน และรถขนส่งน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ และในเขตพื้นที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

4.2 ต่อมาได้มีการออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี และสุราษฎร์ธานี ทำให้ผู้ประกอบกิจการคลังน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน และรถขนส่งน้ำมัน ในพื้นที่ 7 จังหวัดดังกล่าว ต้องปรับปรุงสถานประกอบการให้มีระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและมีการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากคลังน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่รถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดที่มีการรับน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ถัง (bottom loading)

4.3 ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 มีมติเห็นควรให้ปรับปรุงกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 โดย 1) ให้เพิ่มเติมการใช้ระบบ modified top loading สำหรับรถขนส่งน้ำมันไว้ในกฎกระทรวงด้วย 2) กำหนดให้ใช้ระบบ modified top loading กับรถขนส่งน้ำมันที่มีอยู่ก่อนกฎกระทรวงใช้บังคับ และ 3) สำหรับรถขนส่งน้ำมัน เชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นใหม่ กำหนดให้ใช้เห็นระบบ bottom loading

4.4 กรมธุรกิจพลังงานได้ปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามมติ กพช. ข้อ 4.3 แล้ว ประกอบกับได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 3) กำหนดให้เลื่อนการบังคับใช้การควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ 7 จังหวัดไปอีก 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 และนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณา ซึ่ง กพช. ได้มีมติให้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

4.4.1 กำหนดคำนิยาม “น้ำมันเชื้อเพลิง” ให้หมายความว่า น้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ร่างข้อ 1)

4.4.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศกำหนดเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ลักษณะที่ 1 (ร่างข้อ 2 เพิ่มความข้อ 35 และข้อ 36)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ