รายงานผลการตรวจติดตามการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 13:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการตรวจติดตามการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรม

ในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการตรวจติดตามการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวุ) เสนอ ดังนี้

1. ให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดระยอง โดยการควบรวมสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีในจังหวัดระยอง แล้วจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยระยอง โดยใช้รูปแบบของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และกำหนดให้มีหลักสูตรเรียนเฉพาะด้านอาชีวเวชศาสตร์ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดระยองต่อไป

2. ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน/ชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์แพทย์/พยาบาล เพื่อให้บริการด้านการตรวจสุขภาพแก่ประชาชนเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นกรณีพิเศษ โดยอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการฯเข้ามามีส่วนรับผิดชอบโครงการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่

3. ให้กระทรวงมหาดไทย ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4. ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมในการมอบหมายให้มีหน่วยงานกลางรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาประชากรแฝงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัดในขณะนี้ ก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น และจำนวนประชากรแฝงเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวุ) รายงานว่า

1. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ได้เดินทางไปตรวจติดตามผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ณ จังหวัดระยอง

2. จากการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปฏิบัติตามกรอบแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรม ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 การดำเนินการตามกรอบแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง

2.1.1 การปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยองสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีฯได้มีมติมอบหมายให้จังหวัดระยองรับแนวคิดในการพัฒนาจังหวัดระยองสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนไปเป็นแนวทางในการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดระยอง และมอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและเขตอุตสาหกรรมจังหวัดระยองให้เป็น เขตอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศน์ (Eco Industrial Town) นั้น พบว่าจังหวัดระยองได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีฯ โดยได้รับแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการพัฒนาจังหวัดฯ โดยมี กนอ. และผู้ประกอบการฯ ร่วมการจัดทำแผนฯ สำหรับการศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดฯ พบว่า กนอ. อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อเสนอรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยองให้เป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศน์ (Eco Industrial Town) โดยจะนำเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ซึ่งกระผมได้ขอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาจังหวัดระยองไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนและประชาชนต่อไป

2.1.2 การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ โดยจะนำแผนปฏิบัติการฯ เสนอมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ พิจารณา ในวันที่ 14 และ 21 สิงหาคม 2552 คาดว่าแผนปฏิบัติการฯ จะแล้วเสร็จในราวกลางเดือนสิงหาคม 2552 สำหรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีพบว่า กนอ. ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ประกอบการฯ ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยได้พัฒนาแผนระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะได้จัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย(Volatile Organic Compounds : VOCs) และในการปฏิบัติการเฝ้าระวังติดตาม กนอ.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาในการตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการร่วมกับผู้ประกอบการฯ

กรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศให้ท้องที่ตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดระยอง รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมมลพิษ นั้น ได้รับการชี้แจงจากผู้ประกอบการฯ ว่าการประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการฯไม่สามารถลงทุนได้ จำนวน 67 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 300,019 ล้านบาท รายได้ต่อปี รวม 302,436 ล้านบาท การจ้างงานจำนวน 44,015 อัตรา แยกเป็นแรงงานก่อสร้างจำนวน 34,302 อัตรา พนักงาน/ลูกจ้างจำนวน 9,713 อัตรา โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง และโครงการขยายต่อจาก โครงการเดิม ซึ่งกระผมได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการฯเข้าใจแล้วว่า ผลกระทบดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าที่รัฐบาลจะเพิกเฉยได้ จะรับปัญหาฯ ไปปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.1.3 การจัดระบบบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพและทั่วถึง

(1) การบริหารจัดการน้ำ พบว่าความต้องการใช้น้ำในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91.04 โดยจะเพิ่มขึ้นจาก 128 ล้านลบ.ม ในปี พ.ศ. 2550.เป็น 245 ล้านลบ.ม.ในปีพ.ศ. 2559 ทำให้ผู้ประกอบการฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนมีความเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำให้มากยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ปัญหาดังกล่าวกระผมได้ชี้แจงให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบของรัฐบาล ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดระยองไปแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งกักเก็บน้ำจังหวัดระยอง วงเงินงบประมาณ 3,489 ล้านบาท และโครงการวางท่อเชื่อมอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ วงเงินงบประมาณ 1,008 ล้านบาท

(2) การให้บริการด้านสังคม พบว่าจังหวัดระยองอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจดทะเบียนประชากรแฝงและแรงานต่างถิ่น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้เป็นฐานในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดบริการในด้านสังคมได้อย่างเพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันประชากรแฝงของจังหวัดระยองประมาณ 400,000 คน เป็นภาระต่อหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องให้การดูแล แต่เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐขาดฐานข้อมูลในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้การจัดบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง และทุกภาคส่วนมีความเห็นว่า รัฐบาลควรคืนกำไรให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดระยอง ที่ต้องรับภาระในด้านความเสี่ยงจากมลพิษ โดยการเพิ่มการจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่เขตมาบตาพุด เพื่อรับผิดชอบการตรวจสารพิษให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานในพื้นที่นิคมฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศน์ (Eco Industrial Town) สำหรับหน่วยงานภาครัฐมีความเห็นว่ารัฐบาลควรยกระดับเทศบาลตำบลฯ ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเช่นเดียวกับเมืองพัทยา

(3) การชะลอการขยายและการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดฯ และแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฯ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งทบทวนประกาศกระทรวงฯ เรื่อง “โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ลงวันที่ 22 กรกฏาคม 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง นั้น พบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว สำหรับแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ กรณีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฯ ยังจัดตั้งไม่แล้วเสร็จ ตามข้อหารือของ กนอ.แล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552

3. สืบเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นลำดับแรก ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่ารัฐบาลละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบกับ จังหวัดระยองสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2550 ประมาณ 13,113.36 ล้านบาท จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจัดระบบบริการขั้นพื้นฐานทางสังคมให้แก่จังหวัดระยองเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ