การทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 14:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 โดยการรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวมวลตามข้อเสนอ

โครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ดำเนินการทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ด้วยวิธีการรีไซเคิล โดยการบดให้แตกละเอียดหน้าคลังสินค้า แล้วนำไปอัดแท่งใช้เป็นพลังงานชีวมวล โดยไม่เกิดมลภาวะและกระทบกับสิ่งแวดล้อม

2. อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำหน่ายเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวมวลที่ผลิตได้และนำรายได้จากการจำหน่ายส่งคืนคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

3. อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินการภายในวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้แล้ว ไม่เกิน 90 ล้านบาท แบ่งเป็น

3.1 ค่าบริหารจัดการของคณะกรรมการฯ ในการตรวจสอบปริมาณและส่งมอบลำไยอบแห้งและการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการทำลายลำไยอบแห้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณภายในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท

3.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทำลายลำไยอบแห้ง โดยการรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวมวล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการภายในวงเงินไม่เกิน 80 ล้านบาท

ข้อเท็จจริง

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีประกาศลงวันที่ 19 มิถุนายน 2522 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือหารือสำนักอัยการสูงสุดถึงผลกระทบต่อพยานหลักฐานในการดำเนินคดีเกี่ยวกับลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 หรือไม่ อัยการสูงสุดแจ้งว่า จะมีผลกระทบหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดีว่าเป็นพยานหลักฐานในคดีนั้นๆหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงในหนังสือหารือดังกล่าวเห็นว่า กรณีปัญหาตามข้อหารือ เป็นดุลพินิจของผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีนั้นๆที่จะพิจารณา

3. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเสนอโครงการการรีไซเคิลลำไยค้างสต๊อคปี 2546/2547 โดยใช้เป็นพลังงานชีวมวล (เดิมเสนอโครงการทำลายลำไยค้างสต๊อค โดยใช้งบประมาณในการทำลาย 60 ล้านบาท และมีรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิง 30 ล้านบาท) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

3.1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดำเนินการโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี พร้อมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการทำลายลำไยอบแห้งด้วยวิธีการรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวมวลโดยใช้เครื่องอัดแท่งชีวมวล ซึ่งแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลที่ผลิตได้สามารถนำไปจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการผลิต

3.2 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการบดทำลายและขนย้ายลำไยอบแห้งออกจากคลังสินค้าเสร็จสิ้นภายใน 150 วัน

3.3 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ดำเนินการเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำลายลำไยอบแห้ง ตามโครงการรีไซเคิลลำไยฯ จำนวนเงิน 80 ล้านบาท และมีรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวมวลแบบเหมารวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาทนำส่งคืน คชก.

4. คณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ได้ประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 แล้วมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ด้วยการนำไปรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวมวล โดยมีหลักเกณฑ์และข้อกำหนดตามที่ประชุมดังนี้

4.1 อ.ต.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบการตรวจนับปริมาณลำไยอบแห้งที่จัดเก็บในคลังสินค้าของ อ.ต.ก.และ อคส. เพื่อส่งมอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการดำเนินคดีกับเจ้าของคลังสินค้า กรณีลำไยอบแห้งไม่ครบตามบัญชี และการจำหน่ายกล่องบรรจุลำไยอบแห้งเพื่อนำเงินส่งคืน คชก.

สำหรับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับผิดชอบในการรับมอบลำไยอบแห้งจาก อ.ต.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามจำนวนที่ส่งมอบ เพื่อทำการบด ณ หน้าคลังสินค้าของ อ.ต.ก. หรือ อคส. แล้วนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวมวล โดยไม่เกิดมลภาวะหรือกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อกำหนด ดังนี้

1) ในการดำเนินการทำลายต้องควบคุมมิให้เกิดการฟุ้งกระจายของสปอร์เชื้อรา หรือแมลง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชผลทางการเกษตร และต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2) ต้องควบคุมกระบวนการบดลำไยอบแห้งและการขนส่ง เพื่อมิให้มีการนำลำไยอบแห้งไปจำหน่ายได้อีก

3) การขนย้ายลำไยอบแห้งที่ผ่านการบดแล้วขึ้นรถบรรทุกไปยังสถานที่แปรรูปต้องมีการควบคุมความปลอดภัยหรือระบบการตรวจสอบระหว่างการขนย้าย

4) ระยะเวลาดำเนินการบดและขนย้ายลำไยอบแห้งที่บดแล้วออกจากคลังสินค้าไม่เกิน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รันเงินโอนจาก อ.ต.ก. หากเกินกำหนดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องรับภาระค่าเช่าคลังสินค้าที่เกิดขึ้นภายหลังทั้งหมด จนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันลงนามข้อตกลงนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องจัดทำแผนรับมอบลำไยอบแห้งรายคลังสินค้า โดยกำหนดวัน เวลา และสถานที่คลังจัดเก็บพร้อมจำนวนให้ชัดเจน ส่งมอบให้ อ.ต.ก.ไปดำเนินการและรายงานให้คณะกรรมการทราบในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเป็นความบกพร่องของ อ.ต.ก. ที่ไม่สามารถส่งลำไยอบแห้งให้ได้ตามกำหนด ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด การขอขยายเวลาและอื่นๆได้

5) งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทำลายภายในวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

(1) ค่าบริหารจัดการของคณะกรรมการฯ ในการตรวจสอบปริมาณและส่งมอบลำไยอบแห้ง และการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการทำลายลำไยอบแห้ง โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณและการเบิกจ่าย ภายในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท

(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทำลายลำไยอบแห้ง โดยการรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวมวลอัดแท่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการภายในวงเงินไม่เกิน 80 ล้านบาท

(3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

(4) การดำเนินการของทั้งสองฝ่ายในการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานแต่ละฝ่ายและสามารถตรวจสอบได้

6) รายได้จากการจำหน่ายพลังงานชีวมวลอัดแท่งที่ผลิตได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องนำส่งคืน คชก. รวมทั้งต้องจัดทำบัญชีรับ-จ่ายตามระเบียบราชการด้วยเพื่อการตรวจสอบ

4.2 การดำเนินการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรากฏตามข้อเสนอโครงการรีไซเคิลลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546 และ2547

4.3 คณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ยังมีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล การทำลายลำไยอบแห้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวต่อไป อ.ต.ก.และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการทราบเดือนละครั้ง รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค (ถ้ามี) จนกว่างานจะแล้วเสร็จทั้งสองฝ่าย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ