การจัดสรรปริมาณข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 14:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มอบหมายคณะอนุกรรมการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาจัดสรรปริมาณรับจำนำข้าวในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีเงื่อนไขว่า(1) ต้องเป็นเกษตรกร ที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและได้รับหนังสือรับรองเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2552 กับกรมส่งเสริมการเกษตรภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 มาก่อน (2) ปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำเพิ่ม จะต้องไม่เกินจำนวนโควตาที่ได้รับจัดสรรไว้ตามเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 6 ล้านตันข้าวเปลือก

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดย (1) เกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับหนังสือรับรองเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (ยกเว้นภาคใต้) และต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 มาก่อน (2) พื้นที่ที่รับจำนำ จะต้องเป็นจังหวัดที่ได้รับจัดสรรโควตาปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 เดิม และยังมีปริมาณที่ได้รับจัดสรรคงเหลืออยู่ (3) มอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก. ประสานโรงสี ที่เข้าร่วมโครงการ รับจำนำเปิดจุดรับจำนำในพื้นที่ที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการเดิม รวมทั้งขอความร่วมมือจังหวัดตรวจสอบสต็อกโรงสีที่เข้าร่วมโครงการก่อนเปิดเป็นจุดรับจำนำ เพื่อป้องกันการนำข้าวในสต็อกของโรงสีมาสวมสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำ และร่วมกับ อคส. และ อ.ต.ก. ในการบริหารจัดการ กำกับดูแลการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้อยู่ในกรอบปริมาณรับจำนำที่ได้รับการจัดสรร ข้อเสนอ

ขณะนี้ได้มีจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดพิจิตร และสุโขทัย ขอเพิ่มโควตาปริมาณข้าวที่ได้รับจัดสรรในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เนื่องจากได้จำนำข้าวเปลือกเต็มตามปริมาณที่ได้รับจัดสรรไว้เดิมแล้วโดยจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า มีผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกันยายน 2552 จำนวน 338,600 ตัน และขอให้จัดสรรปริมาณโควตาเพิ่ม 30% หรือผลผลิตประมาณ 101,580 ตัน และจังหวัดสุโขทัย แจ้งว่า มีผลผลิตข้าวเปลือกที่จะออกสู่ตลาด ประมาณ 113,740 ตัน ขอจัดสรรปริมาณโควตาเพิ่ม 30% หรือผลผลิต จำนวน 34,111 ตัน

ข้อเท็จจริง

1. การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แจ้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นปริมาณข้าวเปลือก จำนวน 8,315,609 ตัน โดยจังหวัดพิจิตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ จำนวน 645,192 ตัน (ข้อมูลผลผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวน 622,887 ตัน) รับจำนำแล้ว จำนวน 429,210 ตัน จังหวัดสุโขทัยขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้จำนวน 287,277 ตัน (ข้อมูลผลผลิตสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวน 275,392 ตัน) รับจำนำแล้ว จำนวน 228,961 ตัน

2. ผลการรับจำนำ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 กำหนดเป้าหมายรับจำนำ จำนวน 6 ล้านตันข้าวเปลือก ณ วันที่ 4 กันยายน 2552 รับจำนำแล้ว จำนวน 5,153,709 ตัน จำแนกเป็นข้าวเปลือกเจ้า จำนวน 4,468,306 ตัน ข้าวปทุมธานี จำนวน 630,713 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว จำนวน 54,690 ตัน คงเหลือปริมาณข้าวเปลือกที่จะรับจำนำได้ จำนวน 778,267 ตัน แยกเป็นปริมาณข้าวเปลือกของจังหวัดที่ยังมีโควตาคงเหลือที่จังหวัด รวม 40 จังหวัด ปริมาณ 353,620 ตัน และปริมาณข้าวเปลือกที่จังหวัดต่างๆ ส่งคืนส่วนกลาง จำนวน 120,443 ตัน (ไม่รวมปริมาณข้าวที่จัดสรรให้ภาคใต้แล้ว จำนวน 100,000 ตัน)

3. ภาวะการซื้อขาย ราคาข้าวเปลือกที่จำหน่ายในตลาด (ความชื้นไม่เกิน 15%) ณ วันที่ 7 กันยายน 2552 ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาตันละ 8,500 — 10,000 บาท (ราคารับจำนำตันละ 11,800 บาท) ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาตันละ 9,700 — 9,800 บาท (ราคารับจำนำตันละ 11,400 — 12,000 บาท) ข้าวเปลือกเหนียว เมล็ดคละราคาตันละ 6,900 — 7,000 บาท (ราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดคละ ตันละ 9,000 บาท) ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาตันละ 7,400 — 8,500 บาท (ราคารับจำนำตันละ 10,000 บาท)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ