โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 14:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. รับทราบสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง

2. เห็นชอบในหลักการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทั้งนี้ ให้ ทส. ประสานกับกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์จัดตั้งคณะกรรมการการดูแลในเรื่องนี้ โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) เป็นประธาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการวางปะการังเทียมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ ให้สามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ทส. รายงานว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552 ถึงความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยการสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเล สร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านและขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดำเนินการ

2. เพื่อสนองแนวพระราชดำรัสดังกล่าว ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเร่งฟื้นฟูทรัพยากรปะการังที่เสื่อมโทรมขั้นวิกฤตจำนวน 17,000 ไร่ โดยการจัดสร้างปะการังเทียมเสริมทดแทน ซึ่งจากฐานข้อมูลการจัดสร้างปะการังเทียมของประเทศไทยโดยหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2526-2550 พบว่า มีโครงการที่ดำเนินการไปแล้วประมาณ 365 โครงการ ได้พื้นที่แนวปะการังเทียมแล้วประมาณ 290 ไร่ ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ (กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ได้ดำเนินการโครงการปะการังเทียมประมาณปีละ 40 โครงการ พื้นที่ประมาณ 60 ไร่ หากดำเนินการเช่นนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 278 ปี ถึงจะบรรลุตามเป้าหมาย

3. เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อทดแทนแนวปะการังที่เสื่อมโทรมมาก พื้นที่ 17,000 ไร่ ทส. มีแผนหลักที่จะดำเนินการ ดังนี้

3.1 เป้าหมาย

จัดสร้างแนวปะการังเทียมปีละ 226 แห่ง ดำเนินการภายในระยะเวลา 5 ปี รวมจัดสร้างแนวปะการังเทียม 1,130 แห่ง ๆ ละ 1.5 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ปะการังเทียม รวม 1,700 ไร่ (ร้อยละ 10 ของพื้นที่ปะการังเสื่อมโทรมของประเทศไทย)

3.2 วัตถุประสงค์

3.2.1 เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยโดยการจัดทำปะการังเทียม

3.2.2 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

3.2.3 เพื่อลดความขัดแย้งของการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

3.3 กลยุทธ์และกิจกรรม

3.3.1 เป็นการดำเนินการแบบบูรณาการโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและเอกชน แบ่งการดำเนินงานจัดสร้างปะการังเทียม 17,000 ไร่ ออกเป็น 2 ส่วน โดยภาครัฐ 3,400 ไร่ หรือร้อยละ 20 (เป็นการบูรณาการร่วมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 1,700 ไร่ หรือร้อยละ 10 และกรมประมงจำนวน 1,700 ไร่ หรือร้อยละ 10) นอกจากนี้ เป็นการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัดและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอีก 13,600 ไร่ หรือร้อยละ 80 ที่เหลือ

3.3.2 การดำเนินกิจกรรมซึ่งเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ (1) กิจกรรมการจัดสร้างปะการังเทียมแบบคอนกรีต (2) กิจกรรมการจัดสร้างปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน (ซั้ง)(3)กิจกรรมทำความสะอาดบ้านปลา (4) กิจกรรมปลูกจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของชุมชน (5) กิจกรรมการติดตามประเมินผล อำนวยการและประชาสัมพันธ์

3.4 ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2557

3.5 งบประมาณ งบประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือ 3,400 ล้านบาทต่อปี

3.6 ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

3.6.1 ทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลได้รับการฟื้นฟูให้คืนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

3.6.2 ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น โดยไม่ต้องออกไปไกลฝั่ง สามารถ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง

3.6.3 สามารถป้องกันการรุกล้ำเขตประมงชายฝั่งของเรืออวนลากและอวนรุนในเขตอนุรักษ์ใกล้ชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล

3.6.4 เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรชายฝั่งทะเลในเขตชายฝั่งทะเลของตน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ