สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสอง ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 15:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสองปี 2552 สาระสำคัญประกอบด้วย ภาวะสังคมไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพคน ด้านความมั่นคงทางสังคม ด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคนและด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องเด่นประจำฉบับ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2552

มิติด้านคุณภาพคน : การจ้างงานในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีการขยายตัวทั้งในภาคเกษตรและการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จ้างงานลดลงร้อยละ 3.2 ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มคลี่คลายลง อัตราการบรรจุงานปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 1.8 ในไตรมาสนี้ แต่พบว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูง/ปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงสุด ในด้านสุขภาพของประชาชน จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยามากกว่า 2 หมื่นคน ขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการข้ามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

มิติด้านความมั่นคงทางสังคม : คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามพื้นที่เสี่ยง และจัดชุดสายตรวจ ส่วนการจับกุมคดียาเสพติดลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงแต่คดีเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงเป็นฐานความผิดอันดับแรกของการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน

มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน : การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตส่งผลให้การบริโภคยาสูบลดลงร้อยละ 7.7 และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 10.3 แต่การบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ15-24ปี ขยายตัวอย่างน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะการที่มีร้านจำหน่ายใกล้สถานศึกษาทำให้หาดื่มได้ง่าย ผู้บริโภคมีความเสี่ยงกับสินค้าและบริการเสริมความงาม จากการโฆษณาเกินจริง และบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ควบคู่กับการกำกับดูแลผู้ประกอบการ และยอดขายสินค้าไอทีในปี 2551 ที่ขยายตัวเร็วกว่าจำนวนผู้ใช้ สะท้อนกระแสบริโภคนิยมที่เป็นการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างไม่คุ้มค่า

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : การขยายตัวของประชากรและเมือง แบบแผนการดำเนินชีวิต ทำให้ขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถกำจัดได้อย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 38 ควรมีการผลักดันให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือนเพื่อนำกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิล

เรื่องเด่นประจำฉบับ : ภาวะโลกร้อนกับสังคมไทย

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนและกำลังกลายเป็นมหันตภัยในอนาคตอันใกล้ โดยมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน จากการผลิตและการบริโภคทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสะสมในปริมาณมาก สำหรับประเทศไทย ภาคพลังงานซึ่งได้แก่ การใช้เชื้อเพลิงในการเดินทาง ขนส่ง และการผลิต/ใช้ไฟฟ้า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 56 ส่วนที่เหลือมาจากภาคเกษตรกรรม กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ของเสีย และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน/ป่าไม้

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อชีวิตคนไทย

ด้านอาชีพ ความแปรปรวนของภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น รวมทั้งโรคระบาดของพืชและสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรลดลงขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจะซ้ำเติมปัญหาความยากจนของครัวเรือนภาคเกษตร

ด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของโรคมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ และสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น

ด้านความมั่นคง เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เช่น ในปี 2549 เกิดน้ำท่วมรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60 ปี มีผู้ได้รับความเดือดร้อนถึง 4.2 ล้านคน นอกจากนี้ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงขึ้น

ความตระหนักของสังคมไทยต่อปัญหาโลกร้อน คนไทยส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารค่อนข้างทั่วถึงโดยผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด แต่ผลการสำรวจเรื่องภาวะโลกร้อนกับสังคมไทย ของ สศช. ช่วงระหว่างวันที่ 4-11 สิงหาคม 2552 ในกลุ่มตัวอย่าง 4,012 ราย จาก 10 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ร้อยละ 30 ยังมีความเข้าใจน้อย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคกับการเชื่อมโยงกับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดภาวะโลกร้อน และทัศนคติในการแก้ปัญหา

การใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่มีการปฏิบัติกันมากมักเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับการประหยัดค่าใช้จ่าย อาทิ ประหยัดการใช้ไฟฟ้า ส่วนกิจกรรมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมักจะมีการปฏิบัติน้อย เช่น การล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

ด้านการอุปโภคบริโภค ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบรรจุภัณฑ์มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อย โดยเฉพาะเรื่องการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก มีกลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 ที่ไม่ใช้ ส่วนหนึ่งแม้จะมีการใช้ถุงผ้าก็ยังใช้ถุงพลาสติกสวมก่อนเพราะลักษณะของสินค้าไม่เอื้ออำนวย

การแยกขยะเป็นปัญหาใหญ่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าการแยกขยะช่วยลดภาวะโลกร้อน และทิ้งขยะโดยไม่มีการแยกเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ เห็นเป็นเรื่องยุ่งยาก และยังขาดระบบรองรับ

แนวทางในการลดภาวะโลกร้อนสำหรับสังคมไทย โดยสร้างค่านิยมร่วมในการดำเนินชีวิตที่ประหยัด สมเหตุผล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควรมีมาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมาตรการจูงใจ เช่น ลดค่าใช้จ่ายการล้างแอร์ ทบทวนการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกซึ่งได้ผลน้อย มีการให้ความรู้และรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนมีการแยกขยะ ผู้ประกอบธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นโยบายภาครัฐต้องมีความชัดเจนในเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและการใช้พลังงาน และแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อนเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สาธารณะ เช่น การริเริ่มระบบการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ