การจัดตั้งผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Officer: CCO)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 15:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Officer: CCO) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า

1.1 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ร่วมกันดำเนินการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งแบ่งกลุ่มประเทศที่ต้องรับผิดชอบการลดปริมาณการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกตามหลักความรับผิดชอบร่วมที่แตกต่าง (Common but differentiated responsibilities) ออกเป็น กลุ่มประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I Countries) หรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I Countries) หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการจัดตั้งพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol: KP) ขึ้นภายใต้อนุสัญญาฯ

1.2 ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงแนวโน้มความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มขึ้น และเห็นร่วมกันที่จะต้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในระยะยาว จึงให้การรับรองแผนปฏิบัติการบาหลี (Bali Action Plan) ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 13 (COP13) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 3 (CMP 3) เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายใต้การเจรจาเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) ในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ เป้าหมายและลักษณะของพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว กลไกทางการเงินที่เหมาะสมในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกลไกที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ได้ผลการเจรจาสำหรับนำไปใช้การรับรองร่วมกันภายในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 (COP15) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 (CMP 5) ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7- 18 ธันวาคม 2552

1.3 ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 Nnon-Annex I Countries) ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักแห่งชาติ (National Focal Point) ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้อนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งให้มีสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหน่วยงานภายใน เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเหมาะสม

2. การประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสามารถในการปรับตัว (Adaptation) การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การสร้างความตระหนักรู้ แก่สาธารณชน (Public Awareness) การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานและบุคลากร (Capacity Building) ตลอดจนการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Coorperation) จึงทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมการกำหนดนโยบายและดำเนินกลไกในทางปฏิบัติเพื่อบูรณาการงานที่ครอบคลุมหลายหน่วยงานในภาพรวมให้สามารถเตรียมการป้องกันและรับมือต่อปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ทั้งนี้ การจัดตั้งผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Officer: CCO) จะเป็นการพัฒนาระบบการประสานงานระหว่างกระทรวง ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ