การลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 15:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้า

สินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าและหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

1. อนุมัติการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพื่อให้เอกสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนาม และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณาแก้ไขข้อความที่ไม่มีนัยสำคัญได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการในการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2

4. มอบหมายให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามกำกับเอกสารในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2

5. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบตามข้อ 1 แล้ว มอบหมายให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามสัญญา และมอบกระทรวงการต่างประเทศแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบเพื่อให้หนังสือสัญญามีผลใช้บังคับต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า

1. ได้มีการลงนามในพิธีสารทั้งสองฉบับตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 และ 7 พฤศจิกายน 2549 แล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องปรับรายการสินค้าและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ ปี 2002 (HS 2002) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ปี 2007 (HS 2007) เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงของพิธีสารเพิ่มเติมและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ นอกจากนี้พิธีสารที่ลงนามไปแล้ว ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (fishery products) จะลดภาษีในรูปแบบสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาไทยและเปรูได้ตกลงที่จะจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจ เรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อกำหนดแนวทางในการลดภาษีสินค้ากลุ่มนี้ เป็นศูนย์ภายใน 5 ปี โดยสินค้าดังกล่าวเปรูจัดเป็นสินค้าอุตสาหกรรม และไทยจัดเป็นสินค้าเกษตร

2. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าไทย — เปรู เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดรับฟังข้อคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และเปิดตู้ ปณ. รับฟังความคิดเห็น นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจฯ พร้อมทั้งจัดทำตารางสรุปการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

3. กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับการปรับตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA เพื่อให้ความช่วยเหลือในการปรับตัวของผู้ผลิต และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ให้สามารถแข่งขันได้ในรูปของโครงการให้ความช่วยเหลือในแบบต่าง ๆ ซึ่งภาคการผลิตที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความตกลงฯ ไทย — เปรู เช่น อุตสาหกรรมปลาป่น ซึ่งภายใต้พิธีสารฉบับนี้จะยังไม่มีการเปิดเสรีในสาขานี้ แต่คาดว่าหากมีการเปิดเสรีในอนาคตจะได้รับผลกระทบ

4. โดยที่ไทยและเปรูมีเป้าหมายในการลงนามพิธีสารเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่อง สินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ