รายงานผลการเดินทางไปราชการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2009 15:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเดินทางไปราชการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ข้อเท็จจริง

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย เพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด Indonesia — Thailand Expert Group Meeting on Sustainable Agriculture and Food Security ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2552 นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอรายงานผลการเดินทางดังกล่าว ดังนี้

1 การประชุม Indonesia — Thailand Expert Group Meeting on Sustainable Agriculture and Food Security

1.1 กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้จัดการประชุม Indonesia — Thailand Expert Group Meeting on Sustainable Agriculture and Food Security ขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรม Novotel Bogor โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านการเกษตร โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ซึ่งในพิธีเปิดการประชุม มีผู้แทนฝ่ายอินโดนีเซียที่สำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นอกจากนั้น ยังมีผู้แทนจาก UNESCAP และเอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียเข้าร่วมในพิธีเปิดดังกล่าว

1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปาฐกถาพิเศษโดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและประเทศไทยที่มีมาช้านานโดยเฉพาะในด้านการเกษตรนั้นทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการต่างๆ หลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร เช่น แผนนโยบาย บูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security (AIFS) Framework) โครงการระบบ ข้อมูลสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารแห่ง ภาคพื้นอาเซียน (ASEAN Food Security Information System (AFSIS)) และโครงการระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR)) โดยได้ขอบคุณประเทศอินโดนีเซียในการสนับสนุนโครงการ ดังกล่าวที่ริเริ่มโดยประเทศไทย นอกจากนั้นไทยและอินโดนีเซียได้เผชิญปัญหาและความท้าทายต่างๆ เหมือนกัน ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรวมถึงประเด็นด้านการเข้าถึงอาหารและเสถียรภาพของราคาอาหาร ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความพยายามในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งประเด็นต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาคการเกษตรโดยตรง สำหรับประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงาน ตลอดจนเน้นความสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงานอย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญเป็นสิ่งสำคัญ การประชุมครั้งนี้ นับเป็นวิถีทางที่ดีที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยและอินโดนีเซียในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชากรของทั้งสองประเทศ

1.3 ในการประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องจากทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นด้าน สภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อความยั่งยืนทางการเกษตร การพัฒนาภาคการเกษตรในด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตลอดจนนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงทางอาหารของทั้งสองประเทศ สำหรับอินโดนีเซีย ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเขียว และน้ำตาล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2551 อินโดนีเซียสามารถผลิตข้าวได้สูงกว่าความต้องการบริโภคในประเทศและไม่ต้องนำเข้าข้าว อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหารและการขจัดความยากจน นโยบายสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการจัดการน้ำ การพัฒนากลุ่ม/สถาบันเกษตรกร การเพิ่มศักยภาพการส่งเสริมการเกษตร และ ศักยภาพของเกษตรกรในการเข้าถึงตลาด นอกจากนั้น อินโดนีเซียมีแนวคิดว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่เผชิญอยู่ รวมทั้งวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอินโดนีเซียไม่มากนัก แต่นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่จะส่งผลต่อประชากรที่อาศัยตามเกาะต่างๆ สำหรับความมั่นคงทางพลังงาน อินโดนีเซียกำลังดำเนินโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่เรียกว่า Special Biofuel Zone โดยใช้วัตถุดิบจากปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ อินโดนีเซียแสดงความชื่นชมในความก้าวหน้าด้านการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และประสงค์จะเรียนรู้และร่วมมือกับไทยในการพัฒนาความปลอดภัยอาหารอย่างใกล้ชิด

2. การหารือด้านความร่วมมือกับองค์กรด้านการเกษตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปหารือที่ Bogor Agricultural Institute (BAI) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตรของเมืองโบกอร์ มีคณะที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรรวม 9 คณะ และมีศูนย์วิจัยด้านการเกษตร 17 ศูนย์ เช่น ศูนย์วิจัยเพื่อการรวบรวมและผลิตเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Research Collection and Production) โดยเฉพาะการวิจัยพืชสมุนไพรที่นำไปทำยา (Herbal Medicine) ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี 2551 พืชสมุนไพรสามารถทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2544 ทาง BAI ได้ค้นพบพันธุ์พืชสมุนไพรชนิดใหม่จำนวน 1,845 สายพันธุ์ในอินโดนีเซีย และมีการวิจัยการผลิตพลังงานชีวภาพจากสบู่ดำ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่อง สายพันธุ์ เนื่องจากอินโดนีเซียมีสายพันธุ์สบู่ดำที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งเกษตรกรไม่สามารถเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงได้ ทำให้การวิจัยในเรื่องดังกล่าวยังมีความจำเป็น

ในการหารือกับผู้บริหารของ BAI รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นว่าทุกประเทศ ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงของอาหาร ซึ่งข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงให้เห็นว่ายังมีประชากรโลกอีกหลายล้านคนที่อดอยาก ดังนั้น ภาคเกษตรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องความมั่นคงของอาหาร และเสนอให้มีความร่วมมือระหว่างข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ BAI ในด้านการวิจัยและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บริหารฝ่าย BAI เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวและยินดีต้อนรับข้าราชการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการทำวิจัยร่วมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยสาขาที่ BAI มีศักยภาพในการทำวิจัยร่วมได้แก่ พลังงานทดแทน (Renewable Energy ทั้ง biodiesel และ ethanol) ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) สุขภาพ (Health) และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable Water Management)

3. ข้อคิดเห็น

3.1 การแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือระหว่างไทยและอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตทางการเกษตรในอาเซียนจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตรในอาเซียน โดยหากไทยและอินโดนีเซียสามารถร่วมมือกันได้ อย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนน่าจะสามารถผลักดันการดำเนินงานต่างๆ ในกรอบอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น

3.2 ประเด็นความมั่นคงทางอาหารและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรไม่ใช่เป็นเพียงวาระในระดับชาติ แต่จะเป็นวาระทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก (Regional and Global Agenda) และมีความเกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขา ไม่ใช่เฉพาะสาขาเกษตรเท่านั้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อทั้งการผลิตทางการเกษตร การค้าสินค้าเกษตร ตลอดจนการดำรงชีวิตของประชาชนในอนาคตจึงต้องมีการบูรณาการอย่างใกล้ชิดระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องนอกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ยังมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น วาระแห่งชาติในเรื่องดังกล่าวจึงควรมีการหารือและจัดทำนโยบายในการดำเนินการอย่างบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศในแต่ละสาขาให้สอดคล้องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

3.3 อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทย สินค้าเกษตรจากประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดอินโดนีเซีย สามารถจำหน่ายได้แม้ในราคาที่สูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่น ใน ขณะที่มีคนอินโดนีเซียจำนวนมากที่มีฐานะดี มีขีดความสามารถและประสงค์จะบริโภคสินค้าเกษตรจากประเทศไทย จึงนับ เป็นประเทศเป้าหมายในการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยได้ ซึ่งรวมถึงสินค้าที่ได้มาตรฐานฮาลาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ