ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 10:41 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

2. เห็นชอบในหลักการข้อสรุปผลการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ โดยมอบให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1.1 กำหนดคำนิยามคำว่า “องค์การ” หมายความว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ “องค์การผู้บริโภค” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์ และมีการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยไม่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกันและต้องไม่ใช่องค์กรที่จัดตั้งหรือได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทธุรกิจ องค์การธุรกิจ หรือกลุ่มบุคคลที่แสวงหากำไร (ร่างมาตรา 3)

1.2 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)

1.3 กำหนดให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นนิติบุคล และมีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีวัตถุประสงค์ให้ความเห็นในการตราและการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (ร่างมาตรา 5)

1.4 กำหนดให้สำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และกิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 7)

1.5 กำหนดเกี่ยวกับที่มาของรายได้และทรัพย์สินขององค์การและกำหนดให้รายได้ขององค์การ เป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งคลัง อีกทั้งให้ทรัพย์สินขององค์การเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 9)

1.6 กำหนดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (ร่างมาตรา 11 —ร่างมาตรา 18)

1.7 กำหนดให้มีผู้อำนวยการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 19-ร่างมาตรา 23)

1.8 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา ตลอดจนการดำเนินการอื่นใด (ร่างมาตรา 24 — ร่างมาตรา 26)

2. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 (2) และ (8) และเพิ่มเติมมาตรา 10 (1/1) และ (1/2) มาตรา 37 และมาตรา 38 (ร่างมาตรา 3 — ร่างมาตรา 7)

2.2 กำหนดให้สมาคมหรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมีสิทธิฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา และอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวมได้ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้สมาคมและมูลนิธิได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีในศาล (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 (ร่างมาตรา 8)

2.3 แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษผู้ประกอบการธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคและผู้เจตนาทุจริต ใช้ จ้างวาน ยุยง หรือดำเนินการให้สมาคมหรือมูลนิธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อกลั่นแกล้งผู้ประกอบธุรกิจคนใดให้ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 56 และมาตรา 60 และเพิ่มมาตรา 56/1 (ร่างมาตรา 9—ร่างมาตรา 11))

3. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

กำหนดให้มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โดยให้ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้บริโภคให้ชัดเจน และกำหนดผลของกรณีที่ มูลนิธิผู้ยื่นฟ้องถูกเพิกถอนการรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่างมาตรา 19)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ