ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 2/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 13:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1/2552 และครั้งที่ 2/2552

2. มอบหมายให้สำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณากลั่นกรองความซ้ำซ้อนของโครงการพื้นที่ดำเนินการ และแหล่งเงินแต่ละโครงการเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินโครงการต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นการใช้จ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายและความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

4. มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง พิจารณาการกำหนดกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 และพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. .... ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

5. อนุมัติแต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เป็นกรรมการและ เลขานุการ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ (ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ (รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และนายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย (ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้มีการประชุมแล้ว จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 19 สิงหาคม 2552 สรุปผลการประชุมได้ดังนี้

1. คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

1.1 ปัจจุบันมีคณะกรรมการ 3 ชุดที่เกี่ยวข้องในการติดตามการดำเนินโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ได้แก่ (1) คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (รองนายกรัฐมนตรี — นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน) (2) คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน) (3) คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (นายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน) ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ควรแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิด ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

1.2 คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ควรทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยจะติดตามประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) การลงทุนภาครัฐและเอกชน การจ้างงาน เป็นต้น สำหรับการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนั้น ควรเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงและหน่วยงานเจ้าของโครงการ รวมทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะในการตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

1.3 คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าในการกลั่นกรองโครงการควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นความซ้ำซ้อนของโครงการ พื้นที่ดำเนินการ และแหล่งเงิน ซึ่งความซ้ำซ้อนดังกล่าว อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการภายหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการ และเห็นว่าสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมในการกลั่นกรองเรื่องความซ้ำซ้อนของโครงการ เนื่องจากเป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการทั้งหมดของหน่วยงานภาครัฐ และมีฐานข้อมูลโครงการทั้งที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วและที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะสามารถพิจารณากลั่นกรองโครงการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.4 คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การพิจารณาการใช้จ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในด้านความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยพิจารณาจากข้อความ “ตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่น” ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เพื่อเชื่อมโยงกับอำนาจตามมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ซึ่งทำให้การใช้จ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น เป็นไปตามหลักการตีความข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังควรหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อความชัดเจนในข้อกฎหมายดังกล่าวต่อไป

2. หลักเกณฑ์การประเมินผลและการจัดกลุ่มโครงการ

2.1 คณะกรรมการฯได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

2.1.1 ระดับภาพรวม เป็นการประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อัตราการว่างงาน อัตราการบริโภค และอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

2.1.2 ระดับแผนงานรายสาขา เป็นการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ในแต่ละแผนงาน ในประเด็นความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละแผนงาน การกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ และการจ้างงาน และการบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนงาน เช่น การยกระดับการศึกษา การสาธารณสุข การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านการลดต้นทุนโลจิสติกส์ และการเพิ่มปัจจัยการผลิต รวมทั้งการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น

2.1.3 ระดับโครงการ เป็นการประเมินผลการดำเนินโครงการจากเป้าหมายการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ความก้าวหน้าของงาน การเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุน การให้บริการ และผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ โดยมีหลักเกณฑ์การติดตาม และประเมินผลโครงการแยกตามกลุ่มโครงการที่มีลักษณะการดำเนินงานต่างกัน

2.2 คณะกรรมการฯ ได้แบ่งกลุ่มโครงการที่จะทำการติดตามประเมินผล 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 โครงการลงทุนที่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการสร้างงานและสร้างรายได้ในระยะสั้น ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดเล็กที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1-2 ปี สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้เร็ว และเป็นโครงการที่มีลักษณะกระจายการลงทุนและการจ้างงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน โครงการศูนย์เด็กเล็กในชุมชน โครงการถนนปลอดฝุ่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการศึกษา เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 โครงการลงทุนที่เป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีลักษณะเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีการผูกพันงบประมาณลงทุนมากกว่า 3 ปี และต้องใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จำนวน 5 เส้นทาง โครงการชลประทานขนาดใหญ่ โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 การลงทุนอื่น ๆ ที่มีลักษณะสนับสนุนการดำเนินนโยบายรัฐบาลเฉพาะเรื่อง เช่น การเพิ่มทุนสถาบันการเงินของรัฐ เป็นต้น

2. การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ