สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 8-14 กันยายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 14:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 8-14 กันยายน 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 8-14 กันยายน 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน ศรีสะเกษ และจังหวัด อุบลราชธานี รวม 8 อำเภอ 1 เทศบาล 27 ตำบล 55 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,500 คน 500 ครัวเรือน ถนน 5 สาย ท่อระบายน้ำ 2 แห่ง แยกเป็น

1) จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2552 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่หมู่ที่ 5,6 ตำบลสะเนียง อำเภอเมืองน่าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประมาณ 500 ครัวเรือน 2,500 คน ถนน 5 สาย ท่อระบายน้ำ 2 แห่ง และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย คือ นายเม้ง แซ่โซ้ง อายุ 32 ปี (บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 6 บ้านปางเป๋ย) เด็กชายปรีชา แซ่โซ้ง อายุ 5 ปี (บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 6 บ้านปางเป๋ย) เด็กชายพลพล วรรณสุวดี อายุ 3 ปี (บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 5 บ้านสองแคว) และเด็กชายก้องภพ วิเศษกันธากรณ์ อายุ 2 ปี (บ้านเลขที่ 145 หมู่ที่ 5 บ้านสองแคว) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน มูลนิธิต่างๆ ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่องความเสียหายอื่นๆ อยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

2) จังหวัดอุบลราชธานี น้ำจากแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ 3 ชุมชน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

3) จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 10-12 กันยายน 2552 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำห้วยทา ลุ่มน้ำห้วยขยูง ลุ่มน้ำห้วยทับทัน และลุ่มน้ำห้วยสำราญ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ ขุขันธ์ ภูสิงห์ อุทุมพรพิสัย ห้วยทับทัน และอำเภอปรางค์กู่ รวม 6 อำเภอ 26 ตำบล 53 หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายระพี ผ่องบุพกิจ) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย และห้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว พร้อมมอบถุงยังชีพจำนวน 2,345 ชุด และหากไม่มี ฝนตกเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้า สู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

1.2 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และจะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ (งบ 50 ล้านบาท) ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 13-19 กันยายน 2552

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 13-16 กันยายน 2552 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย จากนั้นในช่วงวันที่ 17-19 กันยายน 2552 คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนบริเวณทะเลจีนใต้และมีทิศทางการเคลื่อนตัวมาทางประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ