สรุปสถานการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ครั้งที่ 10

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ครั้งที่ 10 ณ วันที่ 14 กันยายน 2552 ประกอบด้วย สถานการณ์อุทกภัย ผลกระทบด้านการเกษตร การให้ความช่วยเหลือ และสถานการณ์น้ำ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. อุทกภัย

จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2552 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร ตำบลสะเนียง อำเภอเมือง ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2552 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องที่ลุ่มน้ำห้วยสำราญ ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่

อำเภออุทุมพรพิสัย น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนตำบลหนองเหล็ก (บ้านเขวา บ้านโนนม่วง บ้านโนนแดง) น้ำท่วมสูง 0.30-0.60 เมตร หากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน

อำเภอเมือง เนื่องจากระดับน้ำที่สถานีบ้านหนองหญ้าปล้อง เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสะพานขาว ชุมชนโนนสวรรค์ ชุมชนโนนงาม และชุมชนพันทาน้อย ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3-4 วัน

จังหวัดอุบลราชธานี น้ำจากแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในเขตเทศบาลอำเภอวารินชำราบ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

ผลกระทบด้านการเกษตร

พื้นที่ประสบอุทกภัยด้านการเกษตรช่วงวันที่ 1-31 สิงหาคม 2552 ณ วันที่ 11 กันยายน 2552 รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุทัยธานี ร้อยเอ็ด หนองคาย อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด กาญจนบุรี ระนอง สตูล ตรัง และพังงา ดังนี้

ด้านพืช 17 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 11,476 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 61,858 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 49,921 ไร่ พืชไร่ 8,347 ไร่ และพืชสวน 3,590 ไร่

ด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 1,373 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 20,911 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 148 ตัว สุกร-แพะ-แกะ 3 ตัว สัตว์ปีก 20,911 ตัว และแปลงหญ้า 18 ไร่

ด้านประมง 7 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 918 ราย พื้นที่ประสบภัย 878 บ่อ 593 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 680 ไร่ 16,141 ตารางเมตร

พื้นที่ประสบอุทกภัยด้านการเกษตรช่วงวันที่ 1-8 กันยายน 2552 ณ วันที่ 11 กันยายน 2552 รวมทั้งสิ้น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อุทัยธานี และยโสธร ดังนี้

ด้านพืช 3 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 1,176 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 8,239 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 8,218 ไร่ และพืชสวน 21 ไร่

ด้านประมง 1 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 4 ราย พื้นที่ประสบภัย 4 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 3 ไร่

ด้านปศุสัตว์ ไม่มีรายงานผลกระทบ

การช่วยเหลือเบื้องต้น

1) สนับสนุนเครื่องสูบและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อช่วยเหลือไปแล้ว ดังนี้

เครื่องสูบน้ำ 10 จังหวัด จำนวน 83 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม(1) อุดรธานี (1) นครราชสีมา (1) ร้อยเอ็ด (1) นนทบุรี (4) พระนครศรีอยุธยา(10) สมุทรสาคร(5) สุพรรณบุรี (47) ลพบุรี (10) และระนอง(3)

เครื่องผลักดันน้ำ 3 จังหวัด จำนวน 37 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา(19) กรุงเทพมหานคร(3) สุพรรณบุรี (15)

2) ดูแลสุขภาพสัตว์ 1,255 ตัว

2. ฝนทิ้งช่วง (ช่วงวันที่ 1 — 31 สิงหาคม2552

พื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตร 9 จังหวัด 23 อำเภอ 68 ตำบล ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลำปาง จันทบุรี และสุพรรณบุรี

เกษตรกรได้รับผลกระทบ 42,909 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 716,083 ไร่ แยกเป็น ข้าว 498,657 ไร่ พืชไร่ 213,973 ไร่ และพืชสวน 3,453 ไร่ (ข้อมูล ณ 11 กันยายน 2552)

การช่วยเหลือ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 ศูนย์ (8 หน่วยปฏิบัติการ และ 6 ฐานเติมสาร) ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สระแก้ว อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี และฐานเติมสารฝนหลวง ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ อุบลราชธานี ระยอง และนครศรีธรรมราช ขึ้นปฏิบัติการในรอบสัปดาห์ (ช่วงวันที่ 4 —10 กันยายน 2552) จำนวน 271 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 0.1 -266.1 มม. มีฝนตกในพื้นที่ 56 จังหวัด

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (14 กันยายน 2552) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 47,440 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2551 (48,661 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 1,221 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24,084 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 21,988 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 6,670 และ 5,471 ล้านลบ.ม.ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 50 และ 58 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ตามลำดับโดยมีปริมาตรน้ำทั้งสองอ่างฯ รวมกัน จำนวน 12,141 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 10,831 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 500 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯทั้งหมด สามารถรับน้ำได้อีก 460 ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 5 อ่างฯ ดังนี้

อ่างเก็บน้ำ      ปริมาตรน้ำในอ่างฯ        ปริมาตรน้ำใช้การได้     ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ      ปริมาณน้ำระบาย    ปริมาณน้ำ
              ปริมาตร   %ความจุ       ปริมาตร   %ความจุ     วันนี้       เมื่อวานนี้      วันนี้    เมื่อวาน    รับได้อีก
แม่กวง             26       10           12        4    0.48          0.55     0.82      0.77       236
แควน้อย           221       29          185       24    6.74          8.52     1.73      1.73       588
อุบลรัตน์           633       28          223       10    9.29         11.01     3.08      3.09     1,670
ลำพระเพลิง         31       28           30       27    1.82          0.03     0.60      0.64        78
ทับเสลา            36       22           28       17    0.32          0.31     0.00      0.00       126

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 3 อ่างฯ ดังนี้

อ่างเก็บน้ำ      ปริมาตรน้ำในอ่างฯ        ปริมาตรน้ำใช้การได้     ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ      ปริมาณน้ำระบาย    ปริมาณน้ำ
              ปริมาตร   %ความจุ       ปริมาตร   %ความจุ     วันนี้       เมื่อวานนี้      วันนี้    เมื่อวาน    รับได้อีก
ศรีนครินทร์      15,057       85        4,792       27   22.88         29.31     6.82     13.25     2,813
วชิราลงกรณ์      7,615       86        4,603       52   36.81         49.34    18.10     19.99     1,516
รัชชประภา       4,860       86        3,508       62   13.99         15.80     8.58      7.06       857

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ

แม่น้ำปิง สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนภูมิพลลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำวัง สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนกิ่วลมลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำยม สภาพน้ำในลำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมลดลง

แม่น้ำน่าน สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์ลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาคกลาง

แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำป่าสัก สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แม่น้ำชี สภาพน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ

แม่น้ำมูล สภาพน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออก

แม่น้ำปราจีนบุรี สภาพน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้

แม่น้ำท่าตะเภา สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

แม่น้ำปัตตานี สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

แม่น้ำตะกั่วป่า สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ