ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 14:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 64 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศรับความเห็นของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 64 (The 64th Session of the United Nations General Assembly : UNGA ’64) ระหว่างวันที่ 22 — 26 กันยายน 2552 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ และองค์การต่างประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2552 โดยมีรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นางจิตริยา ปิ่นทอง) รองประธานคณะกรรมการประสานงานฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณารับรองร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับคณะผู้แทนไทยใช้เป็นพื้นฐานประกอบการประชุม UNGA ’64 ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (17 กุมภาพันธ์ 2552)

ที่ประชุมได้พิจารณารับรองร่างเอกสารท่าทีไทยในประเด็นต่างๆ ตามระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ไทยให้ความสำคัญในแต่ละหมวด รวมทั้งสิ้น 9 หมวด ดังนี้

1. หมวด Maintenance of international peace and security เพื่อติดตามพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ (Peacebuilding Commission : PBC) อย่างใกล้ชิดในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิก PBC และยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมือง รวมทั้งบทบาทที่แข็งขันของไทยในการสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ย้ำบทบาทที่แข็งขันและต่อเนื่องของไทยในการแก้ไขปัญหาเรื่องทุ่นระเบิด ติดตามประเด็นเกี่ยวกับการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ ประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางอาวุธและการพัฒนา และติดตามรายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ผู้กลับคืนมาตุภูมิ ผู้พลัดถิ่นและประเด็นด้านมนุษยธรรม

2. หมวด Promotion of sustained economic growth and sustainable development in accordance with the relevant resolutions of the General Assembly and recent United Nations conference ย้ำบทบาทที่แข็งขันของไทยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ทั้งในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมสันติภาพและการหารือระหว่างศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม ประเด็นปัญหานโยบายเศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน การพัฒนาด้านการเกษตรและความมั่นคงของอาหาร การพัฒนาสังคม รวมทั้งความก้าวหน้าของสตรี

3. หมวด Development of Africa ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในแอฟริกาในฐานะ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในแอฟริกาผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะ New Partnership for Africa’s Development (NEPAD)

4. หมวด Promotion of human rights สนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council :HRC) ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุกด้านอย่างเท่าเทียมกันผ่านอนุสัญญาและกลไกต่างๆ และการขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ

5. หมวด Effective coordination of humanitarian assistance efforts สนับสนุนการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยที่ผ่านมาไทยมีบทบาทนำในการประสานความร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือพม่าจากพายุไซโคลนนาร์กีส และในฐานะประธานอาเซียน ไทยจะร่วมมือกับสหประชาชาติในการให้ความช่วยเหลือแก่พม่าต่อไป

6. หมวด Promotion of justice and international law ให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายทะเล การติดตามความคืบหน้า พัฒนาการและประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยในรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศและคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งการส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

7. หมวด Disarmament สนับสนุนบทบาทของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตรการป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และประเด็นเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการปราบปรามการค้าผิดกฎหมายของอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา

8. หมวด Drug control, crime prevention and combating international terrorism in all its forms and manifestations ให้ความสำคัญกับประเด็นการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนและครบวงจร การแสดงความพร้อมของไทยที่จะให้ความร่วมมือ ทั้งระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศในทุกรูปแบบ และประเด็นเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา

9. หมวด Organizational, administrative and other matters ให้ความสนใจกับประเด็นการพิจารณาร่างคำของบประมาณปกติของสหประชาชาติสำหรับปี 2553 — 2554 การกำหนดอัตราค่าบำรุงงบประมาณปกติของสหประชาชาติ ประเด็นเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมของสหประชาชาติ รวมทั้งประเด็นด้านสาธารณสุขและการต่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ