คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบผลการศึกษาวิจัยและแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง (2552-2556) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ดังนี้
1. รับทราบผลการศึกษาวิจัยเรื่อง แนวทางการส่งเสริมการปลูกเฮมฟ์เป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่สูง
2. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2552-2556 และกลไกการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
3. มอบหมายให้ สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
4. จัดทำแผนปฏิบัติการการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง
5. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (1 มีนาคม 2548) โดยการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงแก่มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน ทำการศึกษาคัดเลือกพันธุ์เฮมพ์ที่มีสารเสพติดต่ำ มีการเจริญเติบโตดี รวมทั้งศึกษาแนวทางการเพิ่มผลผลิต แปรรูป เส้นใย ศึกษาด้านการตลาด รวมทั้งกำหนดร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง โดยมีผลการศึกษาวิจัยและยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ สรุปดังนี้
1. ผลการศึกษาวิจัย
1.1 ความสำคัญทางเศรษฐกิจของเฮมพ์
(1) เฮมพ์เป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้จากการผลิตให้กับเกษตรกรและประเทศในหลายประเทศได้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สิ่งทอ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
(2) สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเฮมพ์เป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชเสพติด หวงห้าม ประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ทำให้เกษตรกรต้องลักลอบปลูกในพื้นที่ห่างไกล ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีการปลูกและแปรรูปภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ
1.2 แนวทางการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
(1) การวิจัยและพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ให้มีสารเสพติดน้อยพบว่ามี 4 สายพันธุ์ ที่แสดงแนวโน้มมีปริมาณสารเสพติด (Tetrahydrocannabinol : THC) ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ สายพันธุ์แม่สาใหม่ สายพันธุ์ห้วยหอย สายพันธุ์ปางอุ๋ง และสายพันธุ์ V50
(2) การพัฒนาการปลูกและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวพบว่า การปลูกเฮมพ์เพื่อผลิตเส้นในควรเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม และมีระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 10 x 20 เซนติเมตร สำหรับการปลูกเฮมพ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ควรมีระยะห่างของหลุมปลูกประมาณ 1 เมตร
(3) การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยและเมล็ดเฮมพ์พบว่า มีศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรม งานวิจัยสามารถลดขั้นตอนการแปรรูปและวิธีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดเฮมพ์ ที่ประกอบด้วย กรดไขมันและสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณสูง
(4) การตลาดเฮมพ์และผลิตภัณฑ์พบว่ามีตลาดรองรับและราคาอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือข้อจำกัดด้านกฎหมายทำให้ขาดการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้เป็นที่รู้จักและมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ
(5) การขออนุญาตปลูกเฮมพ์ในประเทศไทยในปัจจุบันยังเป็นข้อจำกัดของการสนับสนุนเฮมพ์ในเชิงพาณิชย์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุว่า Cannabis เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งโดยนัยดังกล่าว พืชกัญชงจึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติยาเสพติดของไทยจะระบุไว้เฉพาะกัญชาโดยได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของกัญชาไว้ แต่เนื่องจากกัญชาและเฮมพ์ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อเดียวกัน ผู้รักษากฎหมายจึงถือว่าทั้งเฮมพ์และกัญชาเป็นพืชเสพติดทั้งคู่ ดังนั้น การขออนุญาตปลูกเฮมพ์เพื่อการศึกษาวิจัย การนำเข้า หรือส่งออก ฯลฯ จะต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและบา ซึ่งในปัจจุบัน มีการอนุญาตเฉพาะกรณีเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น จึงทำให้เป็นข้อจำกัดในการสนับสนุนการปลูกเฮมพ์ในเชิงเศรษฐกิจ
2. แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2552-2556 โดยมีข้อเสนอยุทธศาสตร์ รวม 4 ด้านหลัก โดยมีแนวทาง / มาตรการที่สำคัญ ได้แก่
2.1 ยุทธศาสตร์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
(1) พัฒนาปรับปรุงพันธุ์เฮมพ์เพื่อได้สายพันธุ์ดีมีคุณภาพ
(2) ศึกษาการเขตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเฮมพ์
(3) ศึกษาและพัฒนาการแปรรูปเส้นใยเฮมพ์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
(4) พัฒนากระบวนการแปรรูปจากเมล็ดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
(5) พัฒนากระบวนการแปรรูปจากส่วนอื่นๆ ของต้นพืชและเศษเหลือทิ้งเพื่อเพิ่มมูลค่า
2.2 ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกและการสร้างมูลค่าเพิ่ม
(1) ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเฮมพ์เพื่อผลิตเส้นใยภายใต้ระบบการควบคุม
(2) พัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใย การผลิตสินค้าหัตถกรรมและการตลาด
(3) พัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันในเมล็ด และกากเหลือจากการแปรรูป
2.3 ยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ มีแนวทางมาตรการที่สำคัญ คือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีการผลิตเฮมพ์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการดำเนินการทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการผลิต และการค้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
2.4 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ
(1) จัดให้มีกลไกการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง
(2) กำหนดกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่สำคัญ
3. กลไกการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ควรมีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
3.1 จัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการเพื่อนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
3.2 ให้มีกลไกการขับเคลื่อนผลักดันยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ปรับปรุงยุทธศาสตร์และแนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
3.3 กำหนดแนวทางการควบคุม การอนุญาตเพื่อการปลูก การครอบครอง การเคลื่อนย้าย และการแปรรูปเฮมพ์ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเอื้อต่อการสนับสนุนเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจในบริบทพื้นที่สูง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2552 --จบ--