แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2009 12:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เสนอ ทั้ง 5 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 โดยมีวงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 1,637,896.68 ล้านบาท

2. อนุมัติกรอบวงเงินเพื่อรองรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ในส่วนของการกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ ภายใต้แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 50,000 ล้านบาท

3. อนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553

4. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ

5. อนุมัติให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะดำเนินธุรกรรมเพื่อการบริหารความเสี่ยงหนี้ของรัฐบาล รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงิน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะรายงานผลการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้ สาธารณะรายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้ประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2553 โดยมีวงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 1,637,896.68 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานย่อย 6 แผนงาน ดังนี้

หน่วย: ล้านบาท

แผนงาน                                                วงเงินกู้ใหม่        วงเงินบริหารหนี้             รวม
1. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศ                      350,000.00          323,000.00      673,000.00
ของรัฐบาล
2. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความ                            -          139,171.02      139,171.02
เสียหายให้ FIDH
3. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและ                     320,000.00                   -      320,000.00
เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
4. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของ                    56,252.90          232,279.02      288,531.92
รัฐวิสาหกิจ
5. การก่อหนี้จากต่างประเทศ                               118,662.30                   -      118,662.30
6. การบริหารหนี้ต่างประเทศ                                        -           98,531.44       98,531.44
รวม                                                  844,915.20          792,981.48    1,637,896.68

โดยในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 มีกรอบการพิจารณา ดังนี้

1.1 นโยบายของรัฐบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(1) นโยบายของรัฐบาล : เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(2) แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินในแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2551-2554

(3) ยุทธศาสตร์และกรอบเป้าหมายความยั่งยืนทางการคลังระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2552-2556)

(4) กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการก่อหนี้

1.2 เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการที่บรรจุในแผนฯ

(1) เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอหรือได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ซึ่งมีความพร้อมที่จะดำเนินการในระหว่างปีงบประมาณ

(2) มีความสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

(3) มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 : การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน

(4) มีความสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการก่อหนี้

(5) สามารถก่อให้เกิดรายได้และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

(6) สามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ

(7) ความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของหน่วยงาน

1.3 สภาพคล่องในระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาสภาพคล้องในระบบการเงินเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งเงินทุน (Crowding out effect) และเสถียรภาพของตลาดเงินที่จะรองรับการกู้เงินตามแผนฯ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการว่าสภาพคล่องในระบบการเงินซึ่งประเกอบด้วย สภาพคล่องส่วนที่ยังมีเหลืออยู่ในระบบสถาบันรับฝากเงินในปัจจุบันรวมกับสภาพคล่องที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะ ต่อไปจากการขยายฐานเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างเพียงพอที่จะรองรับการกู้เงินตามแผนฯ

2. รายการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินกู้และบริหารหนี้ของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

คณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ได้มีมติให้แยกกิจกรรมดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ออกมา โดยไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ แต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินอื่นและ รายงานให้คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ได้แก่

2.1 การกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และ

2.2 การกู้เงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในลักษณะเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line ที่มีการใช้วงเงินต่อเนื่องทุกปี

โดยในปีงบประมาณ 2553 มีการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจในลักษณะดังกล่าววงเงินรวม 148,172.12 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) การกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

(1.1) แผนกู้เงินจากต่างประเทศ มีรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะกู้เงินต่างประเทศวงเงิน 408.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 14,294 ล้านบาท

(1.2) แผนการบริหารหนี้ในประเทศและต่างประเทศมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง จะบริหารหนี้ ดังนี้

  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนบริหารหนี้ในประเทศและต่างประเทศ โดยการ Roll-over และ Swap Arrangement รวมทั้งสิ้น 97,969.86 ล้านบาท
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนบริหารหนี้ต่างประเทศ โดยการทำ Swap Arrangement จำนวน 16,408.26 ล้านบาท

(2) การกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line

รัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) มีแผนกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line วงเงินรวม 19,500 ล้านบาท

2.3 กรอบรองรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553

แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 มีวงเงิน ดำเนินการรวม 1,637,896.68 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ อีกจำนวน 148,172.12 ล้านบาท จะทำให้ภาพรวมของการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2553 มีวงเงินทั้งสิ้น 1,786,068.80 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างปีงบประมาณจะมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่น ๆ เนื่องจากต้องใช้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือปรับสภาพคล่องในการดำเนินงาน ซึ่งความต้องการในส่วนนี้จะมีความจัดเจน เมื่อรัฐวิสาหกิจสามารถประเมินสถานะทางการเงินจากผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2553 ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วและจะต้องดำเนินการขออนุมัติการกู้เงินตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งด้วย จึงจะดำเนินการกู้เงินได้

คณะกรรมการฯ ได้ประมาณความต้องการกู้เงินในส่วนนี้ ในเบื้องต้นแล้ว จะมีรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง มีความต้องการกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่น ๆ วงเงินประมาณ 51,262.07 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อรองรับการกู้เงินที่จะมีความพร้อมในระหว่างปี จึงเห็นสมควรกำหนดวงเงิน เพื่อรองรับความต้องการกู้เงิน ในส่วนนี้ที่วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ได้อย่างคล่องตัว โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามข้อกฎหมายในข้อ 3.1.7

2.4 ผลที่คาดว่าจะได้รับจาการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553

2.4.1 ภาพรวมของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 มียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 3,831,289.79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.38 ของ GDP ประกอบด้วยหนี้ต่างประเทศ 377,974 ล้านบาทและหนี้ในประเทศ 3,453,316 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.87 และร้อยละ 90.13 ตามลำดับ

2.4.2 แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 มีวงเงินดำเนินการ 1,637,896.68 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • การกู้เงินใหม่ 844,915.20 ล้านบาท ประกอบด้วยการกู้เงินในประเทศ 726,252.90 ล้านบาท และการกู้เงินต่างประเทศ 118,662.30 ล้านบาท
  • การบริหารหนี้ 792,981.48 ล้านบาท ประกอบด้วยการบริหารหนี้ในประเทศ 694,450.40 ล้านบาท และการบริหารหนี้ต่างประเทศ 98,531.44 ล้านบาท

2.4.3 การกู้เงินและการค้ำประกันของรัฐบาลภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 เป็นไปตามกรอบการกู้เงินและค้ำประกันที่พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดไว้ ได้แก่

2.4.3.1 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (มาตรา 21) กำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับการชำระคืนเงินต้น [ (1,700,000* 0.2 = 340,000)+(50,920.888 * 0.8 = 40,736.71) = 380,736.71 ] ซึ่งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 350,000 ล้านบาท จึงยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนด

2.4.3.2 การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (มาตรา 22) กำหนดกรอบเงินกู้ไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี (1,700,000 * 0.1 = 170,000) ซึ่งวงเงินกู้ต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่บรรจุในแผนฯ เท่ากับ 71,277.20 ล้านบาท จึงยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินของกฎหมาย

2.4.3.3 การค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2553 มีรัฐวิสาหกิจเสนอขอให้ กค. พิจารณาการค้ำประกันวงเงินรวม 235,875.00 ล้านบาท ซึ่งภายใต้มาตรา 28 ให้อำนาจ กค. ค้ำประกันเงินกู้ในปีงบประมาณหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (1,700.000*0.2=340,000) จึงเห็นได้ว่าวงเงินที่รัฐวิสาหกิจเสนอขอให้ กค. พิจารณาค้ำประกันยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนด

2.2.4 เมื่อพิจารณาระดับของหนี้สาธารณะต่อ GDP หากมีการดำเนินการตามแผนฯ ทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 รวมกับการกู้เบิกเงินใหม่ที่จะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2553 บวกด้วยหนี้ที่ผูกพันแล้วและมีการเบิกจ่ายระหว่างปีหักด้วยหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ทั้งนี้ หากในปี 2553 มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับร้อยละ 2.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.0 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 52.38 และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับร้อยละ 12.61

2.2.5 ประมาณภาระหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จาการส่งออกสินค้าและบริการ (Debt Service Ratio : DSR) ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2557 โดยมีการกู้จากต่างประเทศปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ DSR จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.55-0.76 โดยในปีงบประมาณ 2553 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.61 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 9 ตามที่กำหนดในกฎหมายข้อ 3.5

2.2.6 การระดมทุนด้วยวิธีการออกพันธบัตรจะทำให้มีปริมาณการออกพันธบัตรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอที่จะสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark) เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศได้

2.2.7 การก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดจะสามารถระดมเงินทุนที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐในการบริหารประเทศ และในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ