คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการประกันรายได้ (ประกันราคาข้าวเปลือก) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2552/53 เพิ่มเติม และการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล โดยอิงกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2552/53
เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2552/53 เพิ่มเติม (โดยให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำจากการประกันราคาข้าวเปลือก เป็นการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อให้ตรงตามความมุ่งหมายของรัฐบาลที่จะประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกราย) ดังนี้
1.1 เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ (รวมข้าวเปลือกพันธุ์ กข. 15) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ
1.2 ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
ชนิดข้าว ราคาประกันรายได้ (บาท/ตัน) ครัวเรือนละไม่เกิน (ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,300 14
(รวม กข.15)
ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 14,300 16 ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 25 ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,000 25 ข้าวเปลือกเหนียว 9,500 16
ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ให้เกษตรกรได้รับการประกันรายได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง เท่านั้น
1.3 ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และจัดประชุมประชาคมเพื่อรับรองการผลิต ตั้งแต่ กรกฎาคม — ตุลาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ กรกฎาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553
1.4 การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รายจังหวัด แยกตามชนิดข้าวและพื้นที่ในและนอกเขตชลประทานเป็นเกณฑ์ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปดำเนินการ และนำเสนอประธาน กขช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
1.5 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดแนวทางการรับรองเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมวันที่ 22 กันยายน 2552
1.6 แนวทางปฏิบัติ
(1) กรณีเกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตรและผ่านประชาคมรับรองการผลิตแล้ว หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ยังไม่ผ่านประชาคมรับรองการผลิต ต่อมามีการขายผลผลิตไป จะไม่ได้รับสิทธิในการทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.
(2) กรณีเกษตรกรได้ทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. แล้ว ต่อมาภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยกว่าปริมาณที่ทำสัญญาประกันรายได้ไว้ หรือไม่ได้รับผลผลิตเลยเนื่องจากประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ สามารถได้รับเงินชดเชยตามเกณฑ์กลางอ้างอิงตามปริมาณผลผลิตที่ได้ทำสัญญาประกันรายได้ไว้แล้ว
2. การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลโดยอิงกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
2.1 อนุมัติให้นำข้าวขาวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ที่คงเหลือทั้งหมด ประมาณ 44,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/52 และข้าวขาว 5% จำนวน 200,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ที่คงเหลือในสต็อกของรัฐบาล มาจำหน่ายโดยใช้กลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) โดยให้ อคส. นำวงเงินค่าขายข้าวสาร โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 รวมทั้งเงินจ่ายขาดจากเงินงบกลางที่ได้อนุมัติไว้แล้ว มาเป็นหลักประกันการซื้อขายล่วงหน้าในตลาด AFET เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วสัญญาของผู้ซื้อและผู้ขายในการขาย รวมทั้งค่าตอบแทนนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า และค่าจ้างผู้จัดการการซื้อขายล่วงหน้า สำหรับข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และข้าวขาว 5% ที่เพิ่มเติมในครั้งนี้ด้วย หากวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้ไม่เพียงพอ ให้ อคส. นำเสนอขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการได้ต่อไป
2.2 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลโดยใช้กลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) จากเดิมสิ้นสุด “เดือนธันวาคม 2552” เป็นสิ้นสุด “เดือนมีนาคม 2553”
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2552 --จบ--