แนวทางการบูรณาการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2009 14:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการบูรณาการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ดำเนินการ ดังนี้

1.1 มีคำสั่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงลำน้ำ (รองอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นประธาน) และคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน) โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดดำเนินการศึกษาและสำรวจสภาพโครงสร้างทางวิศวกรรมประเภทต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม หรือให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ หรือให้รื้อถอนโครงสร้างดังกล่าว หากพบว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้

1.2 เร่งรัดการดำเนินการในการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลปากแตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ต่อเนื่องจากผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่แหลมตะลุมพุก ปากพนัง ระโนด ถึงปากน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อให้มีผลต่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรูปแบบโครงสร้างทางวิศวกรรม ควบคู่กับรูปแบบที่ไม่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับจังหวัดชายฝั่งทะเล ทำการศึกษาจัดทำมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และปกป้องระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ให้มีความยั่งยืน และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งทะเลและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

3. ให้ ทส. โดยกรมทรัพยากรธรณี พัฒนาระบบฐานข้อมูลทางกายภาพ และธรณีสัณฐานของชายฝั่งทะเล ตลอดจนศึกษาผลกระทบในภาพรวมของการเคลื่อนตัวของมวลทราย และเลนตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศ

4. ให้ ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการ ดังนี้

4.1 เร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลเชิงบูรณาการระยะ 5 ปี ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550

4.2 จัดทำแผนงานโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ในส่วนที่ยังไม่ได้ดำนินการ เพื่อใช้เป็นกรอบของการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยประสานกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำผลไปจัดตั้งงบประมาณดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการป้องกันและ/หรือมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์

4.3 ศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้รูปแบบและวิธีการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูป่าชายเลนและป่าชายหาด โดยมีข้อสนับสนุนทางวิชาการในแต่ละลักษณะของพื้นที่ชายฝั่งและชายเลน เพื่อให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และจังหวัดชายฝั่งทะเล มีแนวทางในการปกป้อง และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้เสนอผลการศึกษาวิจัยต่อคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินกิจกรรมและจัดทำแผนหลักป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้คณะกรรมการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

4.4 ให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเรื่อง การกัดเซาะชายฝั่ง (Coastal Erosion) และการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลชายฝั่ง (Sea Level Rise-SLR) ขึ้นเป็นการเฉพาะในระดับสำนัก โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวปฏิบัติงานประจำและต่อเนื่อง และเป็นหน่วยงานกลางทางวิชาการ การศึกษาวิจัย และประสานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเลจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนและการปรับตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงบประมาณให้การสนับสนุน

4.5 ให้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ (National Conference) ในเรื่อง การกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อเป็นเวทีระดมสมอง และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการ และวิธีการที่เหมาะสมใหม่ ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของประเทศด้านสมุทรศาสตร์ และนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเล

4.6 ประสานสำนักงบประมาณในการรวบรวมสถิติการใช้จ่ายงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในส่วนโครงสร้าง และกิจกรรม ทั้งบริเวณชายฝั่ง และในทะเล ภายในเขต 3,000 เมตร จากฝั่ง และโดยรอบเกาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และให้ประเมินประสิทธิผลจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย เช่น ตัวอย่างจากการทำเขื่อนหินทิ้ง การสร้างกำแพงกันคลื่น การลงทุนรอดักทราย การทิ้งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเพื่อเป็นปะการังเทียม (Artificial Reef /แนวกำแพงใต้น้ำ) การสร้างโครงสร้างป้องกันร่องน้ำของท่าเรือ การปักเสาคอนกรีต การปลูกป่าชายเลน ป่าชายหาด และอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน

5. ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการ จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะฝั่งทะเล และแผนปฏิบัติการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะฝั่งทะเลเชิงบูรณาการ โดยให้ประสานงานกับกรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง ทส.

6. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สนับสนุนให้ทุนกับนักศึกษา และข้าราชการ ให้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Marine Science) สมุทรศาสตร์ (Oceanography) การจัดการชายฝั่งทะเล (Coastal Management) นิเวศวิทยาชายฝั่งทะเล (Coastal Ecology) และวิศวกรรมชายฝั่งทะเล (Coastal Engineering) มากขึ้น และให้มีความมั่นคงในสายงานวิชาชีพดังกล่าวด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. การกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทั้งทะเลโคลน หาดโคลน หาดเลนและหาดทราย มีอัตราความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกระทำของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพคลื่นลมที่รุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทะเลที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพตามธรรมชาติทั้งทางกายภาพและชีวภาพการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในปัจจุบันยังไม่คำนึงถึงหลักวิชาการ และมีการใช้งบประมาณอย่างปราศจากผลในการหยุดยั้งการกัดเซาะชายฝั่งทะเล อีกทั้งยังเป็นผลให้พื้นที่และความรุนแรงของปัญหาทวีขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากต้องแก้ไขปัญหาในภายหลังจะต้องใช้งบประมาณในการรื้อถอนสูงกว่าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการหลายเท่า การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานปฏิบัติที่กำกับดูแลการอนุญาต ควบคุม และใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณและหน่วยงานติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าการลงทุน

2. พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ซึ่งมีความยาวประมาณ 2,614 กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีความยาว 1,660 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีความยาว 954 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลรวม 23 จังหวัด มีประชากรอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากกว่า 12 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จนถึง ปี พ.ศ. 2550 พบว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ 155 แห่ง ระยะทาง 600 กิโลเมตร ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งหมดของประเทศ โดยอยู่ในฝั่งอ่าวไทย 112 แห่ง ระยะทาง 490 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณที่มีอัตราการกัดเซาะรุนแรง (เฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี) อยู่ใน 12 จังหวัด ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร และบริเวณที่มีอัตราการกัดเซาะปานกลาง (เฉลี่ย 1 — 5 เมตรต่อปี) อยู่ใน 14 จังหวัด ระยะทางประมาณ 305 กิโลเมตร ทั้งนี้ พื้นที่วิกฤตอยู่ในชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา และอยู่ในฝั่งอันดามัน 43 แห่ง ระยะทาง 110 กิโลเมตร มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงในพื้นที่ 5 จังหวัด ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร

3. กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากจะส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะแล้ว ยังทำให้ตะกอนที่เกิดการกัดเซาะเคลื่อนย้ายไปทับถมในพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียง โดยพบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยเกิดการทับถมของตะกอน รวมเป็นระยะทาง 127 กิโลเมตร และพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันเกิดการทับถมของตะกอน รวมเป็นระยะทาง 35 กิโลเมตร การทับถมของตะกอนดังกล่าวทำให้สภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลงอกออกไปและเกิดการตื้นเขิน เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำ และการทำประมงชายฝั่งทะเล (ประมงพื้นบ้าน) ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

4. การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลและการดำเนินการต่างๆ ในทะเล ยังขาดการควบคุม กำกับ ดูแล อย่างเป็นระบบ โดยที่การดำเนินการต่างๆ กระทำไปโดยมิได้คำนึงถึงหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยมีเจตนารมณ์เพื่อการป้องกัน แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การถมหิน ดินลูกรัง ทราย การสร้างกำแพง การสร้างแนวปะการังเทียมโดยวัสดุประเภทต่างๆ ในลักษณะเป็นจุด หรือเป็นแนวภายในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่งทะเล ล้วนก่อให้เกิดการ เสียสมดุลของสภาพธรรมชาติทั้งสิ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ