ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ อ.ต.ก.ใช้ชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 11:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ อ.ต.ก.ใช้ชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

และขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ และขยายระยะเวลาการค้ำประกันตามโครงการรับซื้อลำไยสดเพื่อแปรรูป

และการตลาดลำไยอบแห้งปี 2547

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้ จำนวน 4,417.927 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ออกไปอีกจนกว่า อ.ต.ก. จะชำระคืนต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ครบตามจำนวน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้จำนวนดังกล่าวและเห็นชอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมในแต่ละปีต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดการตลาดลำไยอบแห้งปี 2547 ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มิถุนายน 2547, 3 สิงหาคม 2547, 18 มกราคม 2548) โดยให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 4,631.59 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการรับซื้อลำไยสดเพื่อแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้ง ปี 2547 โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

2. อ.ต.ก.ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยฯ เป็นเงินกู้ TERM LOAN จำนวน 4,631.59 ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้

             ครั้งที่ 1                    จำนวน           3,945.000  ล้านบาท
             ครั้งที่ 2                    จำนวน             686.590  ล้านบาท
             รวมเป็นยอดเงินกู้                             4,631.590  ล้านบาท
             ต่อมามีการชำระหนี้บางส่วน      จำนวน             213.663  ล้านบาท
             คงเหลือเงินกู้ ณ 30 เม.ย.52   จำนวน           4,417,927  ล้านบาท

โดยเงินจำนวนดังกล่าว ครบกำหนดชำระเดือนธันวาคม 2552

3. ในปีงบประมาณ 2552 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอตั้งงบประมาณของหน่วยงานในสังกัด โดยในส่วนของ อ.ต.ก. ตั้งงบประมาณใช้ชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยตามโครงการรับซื้อลำไยสดเพื่อแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้งปี 2547 จำนวน 4,891.57 ล้านบาท (เงินต้น 4,503.002 ล้านบาท ดอกเบี้ย 388.568 ล้านบาท) แก่ธนาคารกรุงไทยฯ แต่ อ.ต.ก.ได้รับงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยตามโครงการดังกล่าว จำนวน 300 ล้านบาท

4. ในปีงบประมาณ 2553 อ.ต.ก.ขอตั้งงบประมาณใช้ชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยตามโครงการรับซื้อลำไยสดเพื่อแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้งปี 2547 จำนวน 4,661.0020 ล้านบาท (เงินต้น 4,417.927 ล้านบาท ดอกเบี้ย 243.075 ล้านบาท) แก่ธนาคารกรุงไทยฯ แต่ อ.ต.ก.ได้รับงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยตามโครงการดังกล่าว จำนวน 120.52 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สภาผู้แทนราษฎรแล้ว

5. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรับรองงบการเงินโครงการรับซื้อลำไยสดเพื่อแปรรูปและ การตลาดลำไยอบแห้งปี 2547 ของ อ.ต.ก.ประจำปี 2551 และ 2550 เรียบร้อยแล้ว

6. การรับซื้อลำไยสด

             เกรด          จำนวน (ก.ก.)    ราคา/ก.ก. (บาท)        จำนวนเงิน (บาท)
             AA          122,725,836.50                 15      1,840,887,547.50
             A           129,056,115.50                 10      1,290,561,155.00
             B            60,591,744.50                  5        302,958,722.50
             รวม         312,373,696.50                         3,434,407,425.00

อ.ต.ก.ได้รับมอบลำไยอบแห้ง จำนวน 44,613.29 ตัน จำหน่ายไปแล้วบางส่วนและนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปชำระต้นเงินกู้บางส่วนแล้ว คงเหลือลำไยอบแห้ง จำนวน 35,897.77 ตัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ 9 มิถุนายน 2552 อนุมัติให้นำไปทำลายด้วยการบดแตกหรืออัดแท่ง และนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงหรือฝังกลบตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ส่วนลำไยอบแห้งที่มิได้รับมอบอีกจำนวน 50,045.41 ตัน อ.ต.ก.ได้ฟ้องดำเนินคดีอาญากับบริษัท ปอเฮงอินเตอร์เทรด จำกัด ในข้อหายักยอกทรัพย์และฟ้องคดีแพ่งให้ชดใช้ค่าลำไยอบแห้งทุนทรัพย์ 2,264 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศาลนัดสืบพยานต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2553

7. เนื่องจากในปีงบประมาณ 2552 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้ อ.ต.ก.เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย จำนวน 300 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2553 ได้รับจัดสรรงบประมาณให้เพียง 120.52 ล้านบาท ซึ่งสามารถชำระคืนต้นเงินกู้ได้จำนวนน้อยมากและต้นเงินกู้ จำนวน 4,417.927 ล้านบาท ครบกำหนดชำระคืนตามสัญญาแล้ว ตั้งแต่ธันวาคม 2548 ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลประกอบการของธนาคารจะต้องสามารถเปิดเผยต่อสังคมได้ การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียหาย เนื่องจากธนาคารจะต้องแบกภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมากถึง 4,417.927 ล้านบาท และเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หากสำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ ได้โดยเร็ว อ.ต.ก.จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มภาระต่อภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยผลขาดทุนในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ