ขอให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 11:28 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

1. ยกเว้นให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจำนวน 46 แห่ง ดำเนินการจัดหาอาหารให้แก่เด็กและเยาวชนในความรับผิดชอบตามวิธีการเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเด็กและเยาวชนในความรับผิดชอบเพียงพอที่สมควรจะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เรื่องการจัดซื้อและการชำระราคาค่าอาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุเพื่อการหุงหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมติดตามประเมินผลและกำหนดการดำเนินการและการจัดการเรื่องการจัดหานมสดจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั้ง 46 แห่งดังกล่าว และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแห่งอื่นตามเหตุผลและความจำเป็นตามสภาพปัญหาในพื้นที่ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแต่ละแห่ง

2. ยกเว้นให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดหาอาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุเพื่อการหุงหาอาหารให้แก่นักโทษและผู้ต้องขังในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขังต่างๆ (ยกเว้นข้าวสาร 5% และข้าวสารเหนียว) ตามวิธีการเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันทดลองดำเนินการให้เรือนจำทัณฑสถาน และสถานกักขังต่างๆ จัดซื้อผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่ของแต่ละแห่งโดยตรง เป็นโครงการนำร่องใน 4 ภาค ๆ ละ 2 จังหวัด และจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 จังหวัด โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์และกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันพิจารณากำหนดจังหวัดในโครงการนำร่องของภาคต่างๆ และของจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งกำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 อนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและจัดวางระบการจัดซื้อและการชำระราคาค่าอาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุเพื่อการหุงหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

กระทรวงยุติธรรมขอรายงานการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. ผลการดำเนินการ

1.1 การส่งมอบข้าวสาร 5% องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะจัดส่งข้าวสาร 5% ขนาดบรรจุกระสอบละ 100 กิโลกรัม พร้อมติดสัญลักษณ์กระทรวงยุติธรรม ให้แก่ เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ไม่เกินปริมาณที่กระทรวงยุติธรรมได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนข.) ในราคาตันละ 10,000.00 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วนต่อตัน) โดยกระทรวงยุติธรรมตกลงชำระราคาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ อคส. เพิ่มเติมในราคาตันละ 1,900.00 บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยบาทถ้วนต่อตัน) ชำระราคาเป็นรายเดือนตามปริมาณน้ำหนักข้าวสาร 5% ที่ส่งมอบจริง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป โดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจะกำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการทำสัญญาซื้อขายกับ อคส. ขณะที่กรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแต่ละแห่งซึ่งเป็นผู้รับมอบข้าวสาร 5% จะเป็นผู้ตรวจรับมอบให้เป็นไปตามมาตรฐานข้าวสาร 5% ของกระทรวงพาณิชย์ และให้มีน้ำหนักครบถ้วนตามข้อตกลง

1.2 การส่งมอบนมสด องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ค.ส.) จะจัดส่งนมสดให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศในราคากล่องละ 6.50 บาท (หกบาทห้าสิบบาทห้าสิบสตางค์) สำหรับกล่องขนาด 200 มิลลิลิตร และในราคากล่องละ 9.50 บาท สำหรับกล่องขนาด 250 มิลลิลิตร ราคาดังกล่าวเป็นราคารวมค่าขนส่งถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศในปริมาณตามอัตราส่วน เด็กและเยาวชนหนึ่งคน/นมสดหนึ่งกล่อง/วัน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจะรับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการทำสัญญา ซื้อขายกับ อ.ส.ค. ขณะที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแต่ละแห่งในฐานะผู้รับมอบจะเป็นผู้ตรวจรับนมสดให้เป็นไปตามปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ในส่วนของกรมราชทัณฑ์นั้น หากภายหลังการจัดระบบการจัดซื้ออาหารใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้วหากมีเงินงบประมาณเหลือเพียงพอ กระทรวงยุติธรรมก็จะจัดซื้อนมสดให้แก่นักโทษและผู้ต้องขังด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหานมสดล้นตลาด

1.3 ในส่วนของอาหารสด (ผลไม้ ปลา สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ พืชผัก) และวัสดุสำหรับปรุงรสและหุงอาหาร มีรายละเอียดและกระบวนการขั้นตอนในการจัดซื้อ การวางระบบการจัดซื้อ และการชำระราคาค่อนข้างมาก จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันในช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 อย่างไรก็ตามได้ข้อยุติเป็นหลักการในเบื้องต้นสำหรับการจัดซื้อผลไม้ของเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนต่างๆ ว่าจะเป็นการจัดซื้อผลไม้จากเกษตรกรโดยตรง ในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นที่ตั้งของเรือนจำ ทัณฑสถาน สถานกักขัง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่ในช่วงฤดูที่ผลไม้บางชนิดมีผลผลิตมากหรือล้านตลาด เช่น ลองกอง มังคุด และลำไย เป็นต้นนั้น กระทรวงยุติธรรมก็จะเตรียมจัดเงินงบประมาณไว้ซื้อผลไม้ดังกล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาผลไม้ล้นตลาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการและเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตและรายละเอียดเกี่ยวกับเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในส่วนของปลาสดและปลาแห้งนั้นอยู่ระหว่างการหารือกับกรมประมงและองค์การสะพานปลา โดยองค์การสะพานปลาได้ขอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณารับซื้อปลาประเภทต่างๆ ที่องค์การสะพานปลารับซื้อหรือช่วยหาช่องทางจำหน่ายให้แก่ชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา โดยองค์การสะพานปลาแจ้งว่าจะสามารถจัดส่งปลาสดและปลาแห้งประเภทต่างๆ ให้แก่เรือนจำทัณฑสถาน สถานกักขัง และ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอราคาและวิธีการจัดส่งเพื่อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาต่อไป

2. ผลที่จะได้รับจากการดำเนินการ

2.1 กระทรวงยุติธรรมคาดว่าการดำเนินการตามโครงการจัดซื้ออาหาร เครื่องบริโภค และวัสดุเพื่อการหุงหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 จะสามารถช่วยให้ประหยัดงบประมาณรายจ่ายด้านการจัดหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง เด็ก และเยาวชน ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นเป็นตัวอย่างได้ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 กรมราชทัณฑ์จัดซื้อข้าวสาร 5% ในราคาประมาณตันละ 25,000.00 บาท แต่ภายหลังการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 กระทรวงยุติธรรมจะสามารถจัดซื้อข้าวสาร 5% ได้ในราคารวมค่าขนส่งเพียงตันละ 11,900.00 บาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 กรมราชทัณฑ์จัดซื้อข้าวสาร 5% ประมาณ 36,000 ตัน ในราคาตันละ 25,000.00 บาท หากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กรมราชทัณฑ์จัดซื้อข้าวสาร 5% ในปริมาณประมาณเท่าเดิม กระทรวงยุติธรรมจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณในส่วนนี้ได้ถึง 471,600,000.00 บาท เป็นอย่างน้อย โดยยังไม่รวมงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ที่จะลดลงเพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อนมสดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น

2.2 นอกจากจะสามารถประหยัดงบประมาณด้านการจัดหาอาหารดังกล่าวแล้ว ยังจะช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ได้มากขึ้น และเกษตรกรยังสามารถขายผลไม้ได้ ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้นด้วยเพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและยังจะช่วยเพิ่มตลาดผลไม้ในจังหวัดต่างๆ นอกจากนั้นยังจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการระบายผลไม้ที่ล้นตลาดในบางฤดูกาลได้อีกทางหนึ่งด้วย

2.3 กระทรวงยุติธรรมคาดว่าจะสามารถควบคุมการขยายตัวของงบประมาณรายจ่ายด้านการจัดหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง เด็ก และเยาวชน ในความรับผิดชอบของกรมราบทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในระดับหนึ่ง และคาดว่าจะสามารถทราบปริมาณความต้องการด้านอาหารและความต้องการงบประมาณด้านการจัดหาอาหารดังกล่าวที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

3. ปัญหาและอุปสรรค

3.1 ภายหลังจากที่กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเตรียมการจัดซื้ออาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง เด็ก และเยาวชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ดังกล่าวแล้ว พบว่า นอกจากข้าวสาร 5% ที่ได้รับอนุมัติจาก กขช. ให้ อคส. ขายข้าวสาร 5% ให้กระทรวงยุติธรรมในราคาตันละ 10,000.00 บาทแล้ว ปรากฏต่อมาว่า กรมราชทัณฑ์มีความต้องการข้าวสารเหนียวสำหรับเรือนจำและทัณฑสถานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกประมาณ 4,900 ตัน ต่อปี ซึ่งกระทรวงยุติธรรมยังมิได้ขออนุมัติจา กขช. ไว้ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเร่งขออนุมัติจาก กขช. โดยเร็วต่อไป

3.2 ในส่วนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพบว่า มีสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจำนวน 46 แห่ง มีจำนวนเด็กและเยาวชนในความรับผิดชอบเฉลี่ยต่อแห่งเป็นจำนวนน้อยมากไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการจัดหาอาหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 และยังอาจก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย จึงควรที่จะได้รับยกเว้นการดำเนินการจัดหาอาหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 สำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 46 แห่งดังกล่าวและให้ดำเนินการตามวิธีการเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไป

3.3 ในส่วนการจัดซื้ออาหารสด (ผลไม้ ปลา สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ พืชผัก) และวัสดุสำหรับปรุงรสและหุงอาหาร มีรายละเอียดและกระบวนการขั้นตอนในการจัดซื้อและการวางระบบการจัดซื้อและการชำระราคาค่อนข้างมากไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีในช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 จำเป็นต้องขยายเวลาเริ่มดำเนินการออกไป 3 เดือน เพื่อจัดระบบและเตรียมความพร้อมด้านการจัดซื้อ การส่งมอบ การตรวจรับ รวมทั้งงานธุรการและการเงิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ