คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วมีมติตามความเห็นของสำนักงบประมาณดังนี้
1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินตามจำนวนที่จะต้องใช้จ่ายจริง เพื่อการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ของโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่ง ผู้โดยสารอากาศยานในเมือง โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการกู้เงินและดอกเบี้ยเงินกู้ตามหลักการที่มาของค่าก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
2. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินวงเงิน 98 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครที่สถานีพญาไทและเพชรบุรีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองโดยมีความก้าวหน้าของงานถึงเดือนพฤษภาคม 2552 ของงาน ส่วนที่ 1 งานโยธาและโครงสร้าง ประมาณร้อยละ 99.43 และงานส่วนที่ 2 งานระบบไฟฟ้า-เครื่องกล ประมาณร้อยละ 96.05 คิดเป็นความก้าวหน้าของงานทั้งโครงการแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 97.65 โดยผู้รับจ้างพร้อมส่งมอบให้ รฟท. ภายในระยะเวลาไม่เกินวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งตามผลงานก่อสร้างที่จะต้องเบิกจ่ายจนสิ้นสุดโครงการรวมกับค่าธรรมเนียมการเงินและดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้ว (ไม่รวมเงินชดเชยค่างานก่อสร้างฯ (ค่า K)) รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 28,830.720 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (16 ตุลาคม 2550 ,18 ธันวาคม 2550) ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินกู้เพื่อดำเนินการไว้ 28,927.605 ล้านบาท จึงคงเหลือวงเงินกู้ประมาณ 96.885 ล้านบาท และเนื่องจากสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ผู้รับจ้างจึงได้ขอเบิกเงินชดเชยค่างานก่อสร้างฯ (ค่า K) งวดงานที่ 1-26 จำนวน 38,946,040.54 บาท ซึ่ง รฟท. ได้เสนอสำนักงบประมาณพิจารณาตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบให้ รฟท.จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวให้กับผู้รับจ้าง โดยให้เบิกจ่ายตามแหล่งที่มาของ ค่าก่อสร้างจากเงินกู้ แต่ รฟท.มิได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้
รฟท.พิจารณาแล้วเห็นว่า กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กู้เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาไม่ครอบคลุมการจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างฯ (ค่า K) และวงเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฯ ที่คงเหลือประมาณ 96.885 ล้านบาท รฟท.ต้องเผื่อไว้สำหรับค่างานที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปริมาณงานที่ทำเสร็จจริงและการสั่งงานเพิ่มที่มีความจำเป็น จึงไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างฯ (ค่า K) ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในโครงการ ซึ่งได้มีการประมาณการไว้จำนวนไม่เกิน 721.043 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2. ตามมติคณะรัฐมนตรี (10 มีนาคม 2552) รฟท.ได้หารือร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ได้ข้อตกลงว่า รฟท.จะรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างและรับภาระค่าใช้จ่ายค่าก่อสร้างในส่วนงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมทางเดินยกระดับเชื่อมระหว่างสถานี ส่วน BTSC จะรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานีพญาไท เพื่อให้สอดรับกับการก่อสร้างทางเดินเชื่อมของ รฟท. ส่วน รฟม.แจ้งว่า บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานของ รฟม. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานโครงสร้างงานโยธาตามสัญญาสัมปทาน โดยบริษัทจะรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านการปรับปรุงอุปกรณ์งานระบบและ รฟม. รับผิดชอบดำเนินการลงทุนและก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางโยธา ดังนั้น การก่อสร้างทางเดินยกระดับดังกล่าว รฟท.จึงต้องดำเนินการเอง และโดยที่ รฟท. ไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรองรับไว้ แต่ รฟท.มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับการเปิดให้บริการเดินรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--