มาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 11:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรให้เข้มงวดกับส่วนราชการในการจัดฝึกอบรม ประชุมสัมมนา ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และให้กระจายการจัดประชุมและฝึกอบรมไปยังต่างจังหวัดเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มากขึ้น ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า มาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 มีดังนี้

1. มาตรการเร่งรัดติดตาม

1.1 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นสมควรกำหนดเป้าหมาย ดังนี้

1.1.1 เป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ กำหนดดังนี้

  • การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.00 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนของแต่ละหน่วยงาน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 94.00 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,700,000 ล้านบาท
  • กรณีหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในงบรายจ่ายอื่นและเบิกจ่ายในลักษณะรายจ่ายลงทุน การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.00 ของวงเงินงบประมาณในภาพรวมของแต่ละหน่วยงาน

โดยเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายภาพรวมแยกเป็นรายไตรมาส ดังนี้

          ไตรมาสที่ 1       เป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายรายจ่าย          เป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายรายจ่าย
                            ลงทุนสะสม ณ สิ้นไตรมาส (%)            ภาพรวมสะสม ณ สิ้นไตรมาส (%)
             1                      12.00                              20.00
             2                      33.00                              43.00
             3                      56.00                              68.00
             4                      75.00                              94.00

1.1.2 การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ข้างต้นพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 มีสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 84.5 รายจ่ายลงทุนร้อยละ 12.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ร้อยละ 3.0 ของวงเงินงบประมาณ (1,700,000 ล้านบาท) ตามลำดับ

(2) การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ได้แก่ เงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่จะเบิกจ่ายได้ตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับ สำหรับรายจ่ายลงทุนซึ่งเป็นรายการปีเดียวปกติส่วนราชการจะได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเต็มวงเงินที่จะทำสัญญา แต่ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาไม่สามารถทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้ตามแผน จึงต้องมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี เช่น รายการซื้อครุภัณฑ์ หรือรายการก่อสร้างปีเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ รายการก่อสร้างที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณจะมีการจัดสรรงบประมาณตามงวดงานในสัญญา ส่งผลให้การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมด

สำหรับงบประมาณในส่วนของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณในงบรายจ่ายอื่น โดยจัดเป็นประเภทรายจ่ายประจำ แต่การเบิกจ่ายเป็นลักษณะรายจ่ายลงทุนซึ่งประสบปัญหาต่างๆ เช่น การจัดซื้อในลักษณะรัฐต่อรัฐต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ประกอบกับรายการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการมากกว่าในประเทศจึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินงาน

1.2 ให้นำอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวมตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ

2. แนวทางการดำเนินงานของส่วนราชการ จังหวัด และรัฐวิสาหกิจ

2.1 ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยเร่งดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามแผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ ผลผลิตหรือโครงการประเภทงบรายจ่าย และรายการในงบรายจ่ายที่ต้องดำเนินการในเขตพื้นที่จังหวัด ยกเว้นงบบุคลากรประเภทเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ไปยังสำนักเบิกส่วนภูมิภาคนั้นๆ ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนดไว้โดยไม่ชักช้าแต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

2.2 ให้ส่วนราชการ จังหวัด และรัฐวิสาหกิจดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะ หรือแก้ไขครุภัณฑ์ แบบแปลน รูปแบบ เปลี่ยนแปลงรายการปรับเปลี่ยนแผนงาน/โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย เหมาะสมกับการใช้งานสถานการณ์ หรือภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2

2.3 ให้ส่วนราชการ จังหวัด และรัฐวิสาหกิจบันทึกใบสั่งซื้อสั่งจ้าง (Purchasing Order : PO) ในระบบ GFMIS ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อติดตามสถานะการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบันทึกข้อมูลแผนงาน งวดงานและงวดเงินตามระบบที่กระทรวงการคลังกำหนด และรายงานผลความก้าวหน้าตามแผนงาน งวดงานและงวดเงินที่สอดคล้องกับความสำเร็จของงานในแต่ละเดือน

2.4 ให้ส่วนราชการ และจังหวัดเร่งการจัดฝึกอบรม ประชุมสัมมนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2553 และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2553

2.5 การเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงิน

2.5.1 ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับหน่วยงานในสังกัดให้ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเคร่งครัด

2.5.2 ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานในการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

2.5.3 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้คลังจังหวัดดำเนินการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานในจังหวัดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

3. แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานกลาง

3.1 ให้กรมบัญชีกลางรายงานผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและมาตรการที่ควรดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายไตรมาส

3.2 ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรายงานผลการใช้จ่ายเงินและปัญหาอุปสรรคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าวให้คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นรายไตรมาส

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ