โครงการศึกษาแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 15:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1. รับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องของประเทศ

2. เห็นชอบให้ สศช. กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 วงเงิน 10 ล้านบาทไว้เบิกเหลื่อมปีสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการศึกษาแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความก้าวหน้าการดำเนินการของ สศช.

1.1 สศช. ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำระบบรองรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ พบว่า คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้จัดทำร่างแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2557 แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการนำเสนอ กปภ.ช. พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนพฤศจิกายน 2552

1.2 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557 เป็นแผนในระดับหน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมสาธารณภัย จากภัยจากธรรมชาติ ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ ภัยจากโรคระบาดสัตว์ ภัยจากเทคโนโลยี ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง และภัยจากมนุษย์ เช่น การก่อวินาศกรรม การชุมนุมประท้วงและการจลาจล เป็นต้น โดยกำหนดยุทธศาสตร์กลไก และโครงสร้างการบังคับบัญชาของหน่วยงานภาครัฐทั้งในภาวะปกติ และภาวะไม่ปกติ เพื่อรองรับกรณีการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว

1.3 อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า แผนรองรับกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินในระดับภาคเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องนั้น ภาคเอกชนยังไม่มีการจัดทำแผนดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมและเชื่อมโยงกับแผนในระดับหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีแนวทางการจัดทำแผนรองรับกรณีภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินในระดับภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ และภาคเอกชนที่ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาคเอกชนมีความต่อเนื่องในกรณีที่เกิดวิกฤต

1.4 ในการนี้ สศช. ได้ดำเนินการปรับแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยเจียดจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ของ สศช. วงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาแนวทางการจัดทำแผนรองรับกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินในระดับภาคเอกชนที่เชื่อมโยงการดำเนินการกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในสถานการณ์ฉุกเฉินและกรณีเกิดภัยพิบัติ

2. กรอบการศึกษาแนวทางในการจัดทำแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง (BCP) ภาคธุรกิจเอกชน

2.1 วัตถุประสงค์

เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำแผน BCP ในระดับองค์กรธุรกิจเอกชนที่เป็นมาตรฐานสากล ที่เชื่อมโยงกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ ซึ่งครอบคลุมการกำหนดประเภทของภัยพิบัติ กลไกการกำกับดูแล และการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการของภาคธุรกิจในภาวะเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 ขอบเขตของการศึกษา

2.2.1 ศึกษา วิเคราะห์แผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งแผนระดับชาติ และระดับองค์กรธุรกิจในด้านการเตรียมการและมาตรการดำเนินการภายใต้ภาวะฉุกเฉินจากภัยพิบัติต่างๆ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การจัดองค์กรและกลไก ประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการเตรียมการหรือดำเนินการ

2.2.2 ศึกษาแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ขององค์กรธุรกิจในต่างประเทศทั้งในด้านนิยามของแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง แนวคิดในการจัดทำแผน (การระบุประเภทความเสี่ยง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ผลกระทบ แนวทางในการป้องกันหรือลดผลกระทบ) รูปแบบ และมาตรฐาน ตลอดจนวิธีการจัดทำแผน การจัดองค์กรและกลไกในการกำกับดูแล รวมทั้งกฎระเบียบ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจัดทำและปฏิบัติตามแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเพื่อการกำหนดกรอบแนวคิด หลักการ และแนวทางในการจัดทำแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องของประเทศ

2.2.3 จัดทำข้อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการและการกำกับดูแลแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งแผนระดับชาติที่มีการจัดทำแล้ว และข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำแผนระดับองค์กรธุรกิจ ให้มีบูรณาการและเอกภาพเชื่อมโยงกับแผนระดับชาติ เพื่อให้การป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

2.2.4 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องและการบริหารจัดการแผน และการจำลองสถานการณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางในการจัดทำและบริหารจัดการแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องระดับองค์กรธุรกิจ ให้สามารถเชื่อมโยงกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. วิธีดำเนินการ

ดำเนินการศึกษาโดยการจัดจ้างที่ปรึกษาภายใต้วงเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2552 ที่ได้เจียดจ่ายไว้จำนวน 10 ล้านบาท โดยคุณสมบัติของที่ปรึกษาควรมีประสบการณ์ในการจัดทำแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง มีความเข้าใจเกี่ยวกับ แนวคิด หลักการ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ กลไกและความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีความเข้าใจในการเชื่อมโยงการดำเนินการระหว่างภาครัฐและเอกชนในบริบทของการบริหารจัดการและการกำกับดูแลแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง และสามารถจำลองสถานการณ์ในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนภายใต้ภาวะการณ์ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ และแนวทางการซักซ้อมความเข้าใจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ