แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 15:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. ร่างแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 โดยกำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ

2. มอบหมายหน่วยงานหลักและหน่วยงานร่วมรับผิดชอบรับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ ต่อไป

3. ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ และพิจารณาปรับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนรายงานว่า

1. นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนายกรัฐมนตรี ที่ 327/2551 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2551 จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน

2. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 และได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เป็นหน่วยงานจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มอบหมายให้สถาบันบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำร่างแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทฯ พิจารณาประกอบการจัดทำแผนแม่บทฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อหลักการสำคัญของแผนแม่บทฯ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

3. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้สอบถามความคิดเห็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนแม่บทฯ แล้วซึ่งหน่วยงานให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนแม่บทญ และให้ความเห็นเพิ่มเติมตามข้อ 3

4. แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2552-2555 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

4.1 แนวทางของแผนแม่บทฯ ได้กำหนดแนวทางสำคัญไว้ 3 ประการ คือ

4.1.1 กำหนดแนวทางในการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนเชิงระบบ ซึ่งเน้นในเรื่องของระบบที่เอื้อต่อความปลอดภัย (Safe System) และวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) เป็นผลลัพธ์สูงสุดของแผน (Utimate Outcome)

4.1.2 การเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการแบบคณะกรรมการจาก Top Down Process ภายใต้โครงสร้างของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเดินเป็นแบบ Multiple Level คือระดับชาติ ระดับจังหวัด ขณะเดียวกันเน้นการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ (Area) โดยเน้นการมีส่วนร่วม (Empowerment) ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และท้องถิ่น

4.1.3 เพื่อให้แนวทางในข้อ (4.1.1) และ (4.1.2) สามารถนำไปปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับการผลักดันจากรัฐบาลให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ

4.2 ยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ โดยกำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานร่วมรับผิดชอบตามยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์การปรับนโยบายให้เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์การสร้างเสถียรภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมี สศช. สลน. สลค. สงป. สำนักงาน ก.พ.ร. และ สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์การทำแผนนิติบัญญัติโดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานรับปิดชอบหลัก และมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงคมนาคา (คค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในส่วนกลาง โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สลน. กระทรวงมหาดไทย (มท.) คค. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สธ. ยธ. และตช. เป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นหน่วยงานรับปิดชอบหลัก และมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน มท. ตช. และสำนักงาน ก.พ.ร. (ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ) เป็นหน่วยงานร่วมรับปิดชอบ สำหรับหน่วยงานร่วมรับผิดชอบในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ตช. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยุทธศาสตร์วิจัย พัฒนา และติดตามประเมินผลด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีสำนักงาน ก.พ.ร. สงป. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ