ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และประธานการประชุม ดังนี้

1. ทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังจากปี 2558 (ค.ศ. 2015)

1.1 ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่า แม้จะไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วน แต่อาเซียนน่าจะพิจารณาวิสัยทัศน์ว่า ภายหลังจากบรรลุการดำเนินงานไปสู่ AEC ในปี 2015 ควรมีทิศทางเป็นเช่นไร ซึ่งต้องศึกษาบริบทที่รอบด้าน จึงได้เห็นชอบให้มีการศึกษาแนวทาง/ทางเลือกในการรวมกลุ่มของอาเซียน และให้เสนอผลการศึกษาภายในการประชุม AEM Retreat ในเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ การกำหนดวิสัยทัศน์ดังกล่าวต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงที่มีประสบการณ์และมีความเกี่ยวข้องกับอาเซียนเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย

1.2 สำหรับข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) ภายหลังจากปี 2015 ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยสิงคโปร์แสดงท่าทีขัดข้อง เนื่องจากได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยยกเว้นอากรขาเข้าจากประเทศภายนอก จึงยากที่จะปรับภาษีของตนขึ้นมาให้เท่ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ น่าจะมีการยกขึ้นหารืออีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากมีผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นแล้ว

2. นโยบายร่วมของอาเซียนและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

2.1 โดยที่อาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแผนงานในด้านการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน แต่การจะบรรลุเป้าหมาย AEC ยังต้องให้ความสำคัญกับแผนงานในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน(Competitive Economic Region) รวมถึงการจัดทำนโยบายร่วมกัน (Common Policy) ในบางเรื่องที่สามารถทำได้ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มในเชิงลึกและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน

2.2 ในการนี้ ไทยจึงเสนอโครงการสำคัญ 2 โครงการให้ที่ประชุมพิจารณา คือ

2.2.1 ASEAN Grows Green เป็นข้อเสนอนโยบายร่วมในด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก ขณะนี้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในด้านนี้เป็นหลัก และเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับนโยบายการค้า และสมาชิกหลายประเทศมีการดำเนินการอยู่แล้ว จึงน่าจะมีความร่วมมือในด้านนี้ในระดับภูมิภาคได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2.2.2 Creative ASEAN หรือการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากอาเซียนมีความหลากหลาย มีความสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เข็มแข็ง และสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตต่างๆ (value creation) รวมถึงสร้างอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสไปหารือในรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการต่อไป

3. กลไกประเมินผลการดำเนินงานไปสู่ AEC (AEC Scorecard) ที่ประชุมให้ความเห็นชอบรูปแบบรายงาน AEC Scorecard ที่จะนำเสนอโดยประธาน AEC Council ให้ผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้ ซึ่งจากการวัดผลในช่วงปี 2551-กรกฎาคม 2552 อาเซียนสามารถดำเนินการได้เพียงร้อยละ 63.5 จากแผนงานทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินงานในส่วนที่ยังไม่เป็นไปตามแผน อาทิ การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) และการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ เป็นต้น

4. การขยายขอบเขต FTA ของอาเซียน (Regional Architecture)

4.1 คณะผู้เชี่ยวชาญได้สรุปผลการศึกษา East Asia Free Trade Area (EAFTA: อาเซียน+3) และ Comprehensive Economic Partnership in East Asia (CEPEA: อาเซียน+6) แล้วเสร็จ ซึ่งจะเสนอผลการศึกษาทั้ง 2 ฉบับให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้รับทราบด้วย ในชั้นนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (track 1 / Official Track) พิจารณาและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการต่อไปว่า อาเซียนควรขยาย FTA ไปในกรอบ +3 หรือ +6 ซึ่งจะต้องพิจารณาบริบทที่รอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และแง่มุมในด้านการเมืองควบคู่กันไปด้วย

4.2 อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำ FTA ในกรอบอาเซียน+1 แล้วเสร็จ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และอินเดีย ลำดับต่อไป จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงกรอบต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมที่มากขึ้น

4.3 ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค โดยให้เริ่มพิจารณาใน 4 ประเด็นหลักก่อน คือ (1) ความสอดคล้องของกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (2) การปรับประสานการจำแนกพิกัดศุลกากร (3) ความสอดคล้องของพิธีการศุลกากร และ (4) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมขีดความสามารถ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญและอำนวยความสะดวกในการรวมกลุ่มในภาพใหญ่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกรอบอาเซียน +3 หรืออาเซียน +6

5. การดำเนินงานภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน

5.1 ความตกลงการค้าสินค้าของเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) เดิมความตกลงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 สิงหาคม 2552 แต่พม่าและกัมพูชาไม่สามารถให้สัตยาบันได้ทัน รวมทั้งไทยยังไม่สามารถตกลงกับฟิลิปปินส์เรื่องอัตราภาษีสุดท้ายของสินค้าข้าวได้ ที่ประชุมจึงตกลงให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ศกนี้

5.2 การขอใช้สิทธิ์ตามพิธีสารสินค้าข้าวและน้ำตาลของฟิลิปปินส์

5.2.1 สินค้าข้าว ฟิลิปปินส์ขอต่ออายุการใช้สิทธิ์ตามพิธีสารฯ สำหรับสินค้าข้าว โดยได้ยื่นข้อเสนอตารางการลดภาษีโดยจะคงอัตราภาษีสินค้าข้าวร้อยละ 40 ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2557 และลดลงเหลือร้อยละ 35 ในปี 2558 ซึ่งไทยไม่สามารถรับอัตราดังกล่าวได้ เนื่องจากอัตราภาษีสุดท้ายยังสูงกว่าสมาชิกอาเซียนอื่นที่จัดสินค้าข้าวไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง (มาเลเซีย จะลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ในปี 2553 อินโดนีเซีย จะลดภาษีเหลือร้อยละ 25 ในปี 2558)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือทวิภาคีกับฟิลิปปินส์ โดยไทยได้เน้นย้ำว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ได้และไทยไม่สามารถให้สัตยาบันความตกลง ATIGA ได้หากยังไม่ได้ข้อสรุปอัตราภาษีสินค้าข้าวของฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์รับที่จะนำเรื่องดังกล่าวกลับไปหารือกับกระทรวงเกษตรของตน ไทยจึงขอให้ทาง ฟิลิปปินส์แจ้งท่าทีเบื้องต้นภายในเดือนสิงหาคมนี้

5.2.2 สินค้าน้ำตาล ฟิลิปปินส์แจ้งว่า จะขอใช้สิทธิ์ตามพิธีสารสินค้าข้าวและน้ำตาลสำหรับสินค้าน้ำตาลเพื่อชะลอการลดภาษี และได้ยื่นข้อเสนอว่าจะทยอยลดภาษีจากร้อยละ 38 ในปี 2552-2554 จนเหลือร้อยละ 5 ในปี 2558 ซึ่งไทยได้แจ้งว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวกลับไปหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนแจ้งข้อคิดเห็นให้ทราบต่อไป

5.3 การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self Certification) ที่ประชุมให้การรับรองแผนงานการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self Certification) เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าไปยังประเทศอาเซียนอื่นโดยให้การรับรองด้วยตนเองได้ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการในวันที่ 1 มกราคม 2555

6. อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

6.1 อาเซียน-จีน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้ร่วมลงนามความตกลงด้านการลงทุน ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองการลงทุน โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ประชุมยังให้การรับรองแผนการทบทวนความตกลงการค้าสินค้า ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2547 และตั้งเป้าหมาย สรุปข้อผูกพันชุดที่ 2 ภายใต้การเจรจาการค้าบริการให้เสร็จภายในปลายปีนี้

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังได้ตกลงจัดตั้งกองทุน ASEAN-China Investment Cooperation Fund มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายคมนาคมในอาเซียน รวมถึงจัดสรรเงินกู้จำนวน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้อาเซียนกู้ยืมเพื่อใช้ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบอาเซียน-จีน

6.2 อาเซียน-อินเดีย ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงการค้าสินค้า ซึ่งใช้เวลาเจรจายาวนานถึง 5 ปี โดยได้ลงนามความตกลงด้านการค้าสินค้า อาเซียน-อินเดีย และจะเริ่มลดลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

6.3 อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ที่ประชุมพิจารณาติดตามความคืบหน้า การดำเนินงานตามความตกลงที่ได้มีการลงนามกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

7. การประชุม Public-Private Sector Policy Dialogue เป็นการประชุมที่จัดควบคู่ไปกับงาน ASEAN Fashion Plus Trade Fair เพื่อส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน และเน้นการพัฒนารายอุตสาหกรรม ซึ่งในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ คือ เรื่องการพัฒนาระบบ ASEAN Single Window และ Green Lane ให้เห็นผลโดยเร็ว นอกจากนี้ สหพันธ์สิ่งทออาเซียนยังได้จัดทำข้อเสนอโครงการเรื่อง Virtual Vertical Integration เพื่อให้มีการเชื่อมโยงในด้านห่วงโซ่อุปทาน และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดย ขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียนต่างแสดงความชื่นชมในความร่วมมือร่วมใจของ ภาคเอกชน นอกจากนี้ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์แจ้งว่า ยินดีให้ความสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร (HRD) เช่น จัดการ ฝึกอบรมด้านต่างๆ

8. การหารือทวิภาคีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

8.1 รัฐมนตรีการค้าของสปป. ลาว สปป.ลาวสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตข้าวระหว่างประเทศ โดยเห็นว่าไทยและเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ควรเป็นแกนหลักในการหารือระหว่างกันเพื่อพิจารณากลไกและรายละเอียดขององค์กรดังกล่าว ไทยได้เสนอให้มีการหารือในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ และให้ภาคเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งฝ่ายลาวเห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว

8.2 รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย ออสเตรเลียขอให้ไทยเร่งรัดกระบวนการภายในเพื่อให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ในขณะที่ ไทยขอให้ออสเตรเลียพิจารณาแก้ไขปัญหา 3 เรื่อง คือ 1) การผ่อนปรนเงื่อนไขด้านภาษาอังกฤษในการขอวีซ่าต่อใบอนุญาตทำงานสำหรับพ่อครัว/แม่ครัว 2) การออกรายงานการประเมินความเสี่ยงในการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลีย และ 3) การแก้ไขปัญหาของบริษัทไทยที่สินค้าถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียยินดีพิจารณาประเด็นปัญหาของไทย

8.3 สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน สหรัฐฯ สนใจลงทุนในไทยในธุรกิจ Broadband และธุรกิจจัดส่งด่วน (EDS) อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจสหรัฐฯ ได้แจ้งความกังวลในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การประเมินราคาศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ซึ่งฝ่ายไทยได้ชี้แจงว่ากฎหมายหรือมาตรการใดๆ ของไทยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO แต่รับที่จะประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อคิดเห็น

1. การประชุมครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยดี ไทยสามารถผลักดันประเด็นนโยบายสำคัญเพื่อให้อาเซียนสามารถร่วมมือกัน ได้แก่ ASEAN Grows Green และ Creative ASEAN อย่างไรก็ดี การที่อาเซียนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการรวมกลุ่มที่ลึกซึ้งมากขึ้นได้ จำเป็นต้องส่งเสริมกลไกด้านสถาบัน (Institutional Mechanism) ให้แข็งแกร่ง และให้ความจริงจังกับการปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ รวมถึงการมีเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกัน

2. ในเรื่องการขยายขอบเขต FTA ของอาเซียนออกไปในระดับภูมิภาคที่กว้างขวางขึ้นไม่ว่าจะในกรอบอาเซียน+3 หรือ อาเซียน+6 จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้านประกอบกันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่สิ่งที่อาเซียนจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ คือ การส่งเสริมการรวมกลุ่มภายในให้เข็มแข็ง และการมีท่าทีร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการรวมกลุ่มในกรอบกว้างมากขึ้น และส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ