(ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2552-2555)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 16:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ(ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2552-2555) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

1. (ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2552-2555)

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ นำ (ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2552-2555) ไปสู่การปฏิบัติ

3. ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาประสานการนำแผนสู่การปฏิบัติ ติดตาม ประเมินผล และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2552-2555) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างแผนพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2552-2555) และได้นำเสนอในการประชุมสัมมนา ณ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 หลังจากปรับปรุงแล้วได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 และ 24 มิถุนายน 2552 จากนั้นได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะจากที่ประชุมและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณา

2. (ร่าง) แผนพัฒนาการศึกษาฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 วิสัยทัศน์ มุ่งจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและพัฒนาพื้นที่โดยยึดแนวทางพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตลอดจนหลักคุณธรรมนำความรู้ การมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรศาสนา เพื่อสร้างสันติสุขและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเชื่อมโยงสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกภายในปี 2555

2.2 วัตถุประสงค์

2.2.1 เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง

2.2.2 เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วยรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความต้องการ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

2.2.3 เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษา สถาบันการศึกษา แหล่งการเรียนรู้กับองค์กรชุมชนและองค์กรศาสนา นำไปสู่สังคมสันติสุขและประเทศชาติมั่นคง

2.2.4 เพื่อให้การประสานนโยบายการจัดการศึกษาลงสู่การปฏิบัติได้อย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ

2.2.5 เพื่อให้กระบวนการจัดการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคง ส่งเสริมความเป็นไทยและความเป็นชนชาติเดียวกัน

2.3 ยุทธศาสตร์และมาตรการการพัฒนาการศึกษา แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

2.3.1 ส่วนแรก ยุทธศาสตร์และมาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย (1) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาของรัฐ (2) สนับสนุนกิจกรรมอิสลามศึกษาทุกระดับอย่างจริงจัง (3) สนับสนุนโรงเรียนเอกชนอย่างจริงจัง (4) ส่งเสริมการศึกษาเพื่อเสริมสร้างอาชีพ (5) ปรับระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

2.3.2 ส่วนที่สอง ยุทธศาสตร์และมาตรการระยะต่อไป ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ (1) ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย 34 มาตรการใน 6 กลยุทธ์ (2) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมศาสนศึกษา ประกอบด้วย 19 มาตรการใน 2 กลยุทธ์ (3) ยุทธศาสตร์เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย 21 มาตรการใน 3 กลยุทธ์ (4) ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ ประกอบด้วย 17 มาตรการใน 4 กลยุทธ์ (5) ยุทธศาสตร์พัฒนาการบริหารจัดการการศึกษา ประกอบด้วย 22 มาตรการใน 3 กลยุทธ์ (6) ยุทธศาสตร์จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ประกอบด้วย 29 มาตรการใน 6 กลยุทธ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กันยายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ